ส่งมอบให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยกันไปเรียบร้อยกับ “ระบบการจำลองการขับรถไฟ (เทรน ไดร์ฟเวอร์ ซิมมูเลเตอร์) และชุดทดสอบการทำงานของหัวรถจักร Alstom”
ผลงานการวิจัยภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ร่วมกันผลักดันและเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีระบบราง
...เพราะวันนี้...การซื้อเทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่พอ...
“ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ผลักดันให้เกิดวงจรในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยภายใต้ชื่อ “งานวิจัยมุ่งเป้าระบบราง” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของคณะนักวิจัย ผู้บริหารจัดการทุนวิจัย และผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย อย่างเช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย
“การพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีความยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถึงแม้ในระยะแรกไทยจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดังกล่าวจากต่างประเทศ แต่ในอนาคตนักวิจัยไทยควรที่จะเรียนรู้และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนให้มีความเหมาะสมกับการวิจัยและพัฒนาในระดับสูงของการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล”
สำหรับระบบการจำลองการขับรถไฟและชุดทดสอบการทำงานของหัวรถจักร Alstom นั้น “รศ.ดร.สุเทพ บุตรดี” หัวหน้าโครงการจากภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บอกว่า เป็นงานวิจัยภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ สวทช. และได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 5,462,400 บาท จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
พัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนเครื่องชุดหัดขับรถไฟเดิม ที่ศูนย์ฝึกอบรมของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับมาจากประเทศญี่ปุ่น และใช้งานมากว่า 20 ปี ซึ่งเริ่มชำรุดไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบกับเทคโนโลยีเริ่มล้าสมัย และต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูง
หากจะซื้อเครื่องใหม่จากต่างประเทศ ต้องใช้งบประมาณกว่า 30-50 ล้านบาท
ทีมวิจัยจึงพัฒนาระบบขึ้นใหม่ เมื่อเดือนเมษายน 2557 แล้วเสร็จและพร้อมส่งมอบให้กับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โดยเน้นการใช้งานที่เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสำหรับนักเรียนฝึกและทดสอบการขับรถไฟในสถานการณ์จำลองต่าง ๆ
ระบบมีการใช้เทคโนโลยีเอ็มเบดเด็ด หรือสมองกลฝังตัว ซึ่งจะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลเพื่อเป็นส่วนของการตัดสินใจและเชื่อมต่ออินเตอร์เฟสโปรแกรมที่ใช้งาน ในการประมวลผลภาพ
สามารถเก็บสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยรูปภาพ ที่มีความคมชัดระดับ 4 k และสร้างการปฏิสัมพันธ์บนเครือข่ายแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยในการฝึกในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ เช่น ไฟไหม้ รถไฟชนสิ่งกีดขวาง เกิดโจรกรรมบนรถไฟ รถไฟตกราง ทัศนวิสัยการขับแย่ หรืออื่น ๆ ในช่วงเวลาทันทีทันใด สำหรับการฝึกการตอบสนองและการตัดสินใจของพนักงานขับรถ เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น
นักวิจัยบอกว่า ชุดจำลองนี้จะเป็นพื้นฐานในการสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การพัฒนาระบบบขนส่งทางรางและรถไฟความเร็วสูงในอนาคต.
นาตยา คชินทร
nattayap.k@gmail.com
ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting
ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ
Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFeFacebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
คำค้นหา : คอบช.การพัฒนาระบบจำลองการขับรถไฟงานวิจัยมุ่งเป้าระบบรางการพัฒนาเทคโนโลยีการรถไฟแห่งประเทศไทยข่าวไอที