จีนนำหน้าทั้งโลกในเรื่อง 5G และต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

จีนนำหน้าทั้งโลกในเรื่อง 5G และต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

จีนนำหน้าทั้งโลกในเรื่อง 5G และต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
เมื่อประมาณปลายปีก่อน ฝ่ายปกครองของเมือง และ China Mobile (ผู้ให้บริการสัญญาณมือถือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ) ได้วางแผนการวางจุดส่งสัญญาณ 5G เป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 เป็นต้นมา พวกเขาได้ทำการทดลองการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไร้คนขับและสิ่งต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ คลื่นสัญญาณ 5G นั้นถูกส่งออกมาจากเซ็นเซอร์ของตัวรถ ตามอุปกรณ์ที่วางไว้บนไหล่ทาง และกล้องวงจรปิดที่ติดไว้บนเสา เพื่อนำส่งไปยังศูนย์เก็บข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์และส่งกลับไปยังรถยนต์คันนั้นเพื่อช่วยให้มันขับเคลื่อนได้อย่างปลอดภัย

แล้ว 5G ทำได้ยังไงกัน? ระบบสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 ไม่เหมือนกับเจนเนอเรชั่นก่อนๆ ที่มักมาพร้อมกับฟีเจอร์แค่ไม่กี่อย่างในแต่ละรุ่น (1G - ทำให้เราพูดคุยกันผ่านโทรศัพท์มือถือ, 2G - ทำให้เราส่งข้อความหากันได้, 3G - มีอินเทอร์เน็ต, 4G - ทำให้เราเห็นภาพและเสียง) แต่สำหรับ 5G ความเป็นไปได้ของมันคือการเชื่อมต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้

โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Millimeter Waves ที่มีความถี่สูง และความยาวคลื่นสั้นกว่า 4G ทำให้ความเร็วของ 5G นั้นสูงกว่าตอนนี้เกือบ 100 เท่า เรียกว่าแทบจะไม่มีดีเลย์และการกระตุกของสัญญาณเลย มันจะทำให้ IoT (Internet of Things) นั้นกลับมาน่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เชื่อมต่อกันเป็นล้านๆ ชิ้น อุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน แมชชีนที่อยู่ด้านนอก และเซ็นเซอร์ต่างๆ โดยใช้พลังงานน้อยกว่าเดิมเป็นอย่างมากด้วย

รัฐบาลของประเทศจีนนั้นรู้และเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016 - 2020) ได้ระบุว่า 5G ถือเป็น ‘สิ่งสำคัญทางยุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ’ และ ‘เป็นพื้นที่ในการพัฒนาและเติบโต’ และในแผนการ ‘Made in China 2025’ (ที่วางเอาไว้ให้พวกเขานั้นเป็นผู้นำด้านสายการผลิตระดับโลก) ก็ได้ตั้งปฏิญาณเอาไว้ว่าต้อง ‘มีความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ในระบบสื่อสารไร้สายยุคที่ 5’

คงไม่ต้องบอกว่าพี่จีนของเรานั้นมีความตั้งใจมากขนาดไหน ที่จะทำให้ 5G นั้นเกิดให้ได้ ไม่ใช่แค่ในพื้นที่เล็กๆ แต่เป็นบนเวทีโลกเลยก็ว่าได้ แล้วมันหมายความว่ายังไงกัน?

ทำไมต้องทุ่มขนาดนั้นเพื่อ 5G?
เกียรติยศ ศักดิ์ศรี เรื่องนี้มีแน่นอนอยู่แล้ว ประเทศจีนนั้นมองว่า 5G คือโอกาสที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีไร้สายแห่งอนาคตในระดับโลก โดยกลุ่มประเทศยุโรปนั้นเป็นผู้นำ 2G ในช่วงยุค 90’s และญี่ปุ่นก็ตามมาด้วย 3G ช่วงปี 2000 และต่อจากนั้นก็ประเทศอเมริกาที่นำโด่งเรื่อง 4G ตั้งแต่ปี 2011 แต่ตอนนี้จีนกำลังเดินนำทุกคนในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ไม่ได้วิ่งไล่ตามเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ในการสัมภาษณ์หนึ่งของเจียนซู่ หวัง (Jianzhou Wang) อดีตผู้บริหารของ China Mobile เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการสื่อสารตั้งแต่ 1G ถึง 5G ของประเทศจีนได้กล่าวไว้ว่า “มันเป็นขั้นตอนจากการไม่มีอะไรเลย จนเกิดอะไรขึ้นมาสักอย่าง จากสิ่งเล็กไปหาใหญ่ และจากอ่อนแอไปสู่ความแข็งแกร่ง”

เงินก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจีนมองว่า 5G นั้นเป็นตัวแปรสำคัญด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ปีแล้วปีเล่าที่พวกเขาเป็นผู้ตามทำสินค้าเลียนแบบ Made in China, บริษัทในประเทศจีนก็อยากจะกลายเป็น Apple หรือ Microsoft บ้าง เพราะมูลค่าของบริษัทเหล่านี้นำมาซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

สถาบันวิจัยข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสารจีน China Academy of Information and Communications Technology (CAICT) ได้คาดคะเนเอาไว้ว่า 5G นั้นจะสร้างงานกว่า 8 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 นำโดยธุรกิจทางด้านพลังงานและสุขภาพจะใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อนำเอาอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ 5G มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภายในองค์กรในช่วงเวลาดังกล่าว

แล้วพวกเขาจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ยังไง?
รัฐบาลนั้นควบคุมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งสามแห่ง (China Mobile, China Telecom และ China Unicom) และได้คอย ‘สนับสนุน’ (หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือกำกับการ) ให้ทั้งสามแห่งนั้นค่อยๆ ติดตั้งโครงข่ายระบบ 5G ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาในเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น โดยบริษัท China Mobile นั้นกล่าวว่า เพียงแค่การทดสอบของพวกเขาในครั้งนี้ ก็เปรียบเสมือนการทดสอบครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในตอนนี้แล้ว

ภายใต้การนำทางของรัฐบาล บริษัทเหล่านี้ได้เริ่มทำการวิจัย 5G ตั้งแต่ปี 2013 และเริ่มทำการทดลองจริงๆ ตั้งแต่ปี 2016 คริส เลน (Chris Lane) นักวิเคราะห์จากบริษัทบริหารการลงทุน Sanford C. Bernstein อธิบายว่า “ผู้ให้บริการในประเทศจีนนั้นมองว่างานของพวกเขาคือการทำตามกฎระเบียบของรัฐบาล โดยที่บริษัทผู้ให้บริการอื่นๆ บนโลกนั้นคอยแต่จะพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการต่อกรกับคู่แข่งในตลาด และการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน จึงทำให้การพัฒนาเป็นจังหวะที่ช้ากว่า”

อีกอย่างหนึ่งที่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในประเทศจีนได้เปรียบ ก็คือเรื่องของกฎระเบียบและข้อบังคับ ไม่ต้องปวดหัวว่าเมืองนี้จะอนุญาตรึเปล่า การใช้เทคโนโลยีแบบนี้ต้องเสียค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอะไรไหม เพียงแค่รัฐบาลสั่งว่าต้องทำ ทุกอย่างก็เริ่มต้นได้ทันที

แล้วพวกเขาจะใช้มันเพื่อทำอะไร?
อย่างแรกเลยเราน่าจะได้เห็นสมาร์ตซิตี้ส์และรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนน ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเมือง

ซงอัน (Xiong’an) ที่เป็นเมืองใหม่ ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลจีนตั้งอยู่ทางตอนใต้ของปักกิ่งประมาณ 130 กิโลเมตร บริษัท China Mobile และ China Telecom ได้วางระบบของพวกเขาที่นั่นเรียบร้อย บริษัทใหญ่ๆอย่าง Baidu ได้เริ่มใช้เครือข่ายแห่งนี้เพื่อการถ่ายทอดสดอีเวนต์ในรูปแบบ Virtual Reality และในฟางชานที่มีการเริ่มใช้รถยนต์ไร้คนขับที่สามารถส่งข้อมูลหากันได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่ของรัฐตามภาคส่วนต่างๆ ก็ช่วยสนับสนุนให้โปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นสร้างแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับโทรเวชกรรม (Telemedicine – การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย หรือผู้รับบริการในพื้นที่ห่างไกล) และระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองโดยใช้ 5G เป็นพื้นฐาน และส่วนของบริษัทอื่นๆ ก็พยายามใช้ 5G เพื่อการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงานของตนเองด้วย

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าเมืองในประเทศจีนนั้นมีความวุ่นวายที่ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังก็คือ 5G จะช่วยจัดระบบระเบียบทั้งประชากรและสิ่งต่างๆ ในเมือง โดยเฉพาะเรื่องการจราจรและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการอยู่อาศัย

 "สิ่งที่รัฐบาลหวังก็คือ 5G จะช่วยจัดระบบระเบียบทั้งประชากรและสิ่งต่างๆ ในเมือง"

แล้วธุรกิจภายในประเทศจะได้รับอะไรตอบแทน?
การเข้าถึงเครือข่าย 5G ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะทำให้ประเทศจีนมีข้อได้เปรียบในการสร้างธุรกิจทำเงินได้อย่างมหาศาล เหมือนกับตอนที่ธุรกิจอย่าง Instagram, Uber และ YouTube ทำได้ในอเมริกาเมื่อ 4G LTE ถูกเริ่มนำมาใช้งาน ตอนนั้นอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ใช้งาน 4G ในสเกลใหญ่ บริษัททั้งหลายล้วนนำข้อได้เปรียบตรงนี้มาสร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำเงินได้มหาศาลจากผู้ใช้งานทั่วโลก เมืองแห่งการผลิตอย่างเซินเจิ้นอาจจะใช้ 5G เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ต่างๆ เข้าด้วยกัน และผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ที่อื่นๆ ในโลกจะเป็นยังไง?
ตอนนี้ประเทศพี่ใหญ่อย่างอเมริกาก็พยายามอย่างมากในการเร่งเครื่องเพื่อตามพี่จีนให้ทัน ซึ่งที่จริงแล้วถ้าเรานับบริการ 5G ของ Verizon ที่ปล่อยออกมาในพื้นที่จำกัดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ 5G ที่ทำเงินได้ อเมริกานั้นนำหน้าจีนอยู่ก้าวหนึ่ง แต่ทุกคนก็เห็นตรงกันว่า 5G ของ Verizon นั้นปลอมยิ่งกว่าของก็อบเกรดเอจากเซินเจิ้น เพราะมันเป็นแค่เครือข่ายสายเคเบิลธรรมดาในรูปแบบไร้สาย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือพวกเขาเอาความเร็วของเคเบิลบ้านมาให้สมาร์ตโฟนใช้นั่นแหละ เร็วกว่าเดิม แต่เทียบไม่ได้เลยกับ 5G ของจริง ส่วน T - Mobile ก็วางแผนว่าจะมีการเปิดตัว 5G ใน 12 เมืองภายในสิ้นปีนี้ แต่ของจีนยังคงอดเปรี้ยวไว้กินหวาน แล้วเริ่มให้บริการกลางปีหน้าในปี 2020

แต่ถ้าเรานับว่าคะแนนจากประเทศไหนที่จะสามารถรองรับการใช้งาน 5G ในหัวเมืองใหญ่ได้ก่อนถือเป็นผู้ชนะ แน่นอนว่าจีนนั้นนำหน้าทุกคนอยู่หลายก้าว บริษัท China Tower ผู้ดูแลการก่อสร้างเสาส่งสัญญาณให้กับผู้ให้บริการสัญญาณมือถือของประเทศกล่าวว่า พวกเขาสามารถก่อสร้างเสาส่งสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้ภายในปี 2023

ในประเทศอื่นๆ อย่างอเมริกา ยุโรป หรือบ้านเราเอง กระบวนการนี้อาจจะเกิดขึ้นช้าหน่อย ด้วยความที่ 5G นั้นใช้คลื่นสัญญาณที่มีความถี่สูงและความยาวคลื่นสั้น จึงทำให้ต้องมีจุดรับส่งสัญญาณมากกว่า 4G ประมาณ 3 - 4 เท่า สิ่งที่จะเป็นปัญหาก็คือการก่อสร้างในแต่ละพื้นที่จะได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและประชาชนมากขนาดไหน ประเด็นนี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญ ถ้ามีเสียงต่อต้านมาก (เพราะคนทั่วไปอาจจะไม่ได้สนใจหรอกว่า 5G คืออะไร มีไว้ทำไม) ก็ล่าช้าตามไปด้วย

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถูกบังคับหรือไม่ ประเทศจีนยังคงเป็นต่อในหลายๆ ด้านในตอนนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน บริษัทต่างๆ ก็ช่วยกันลงมือก่อสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ซึ่งก็ไม่ด้อยไปกว่าที่ไหนในโลก แต่ถึงแม้ว่าการเป็นผู้นำจะสร้างความได้เปรียบให้กับตนเองขนาดไหน ความสำเร็จนั้นบางครั้งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครมาก่อนหรือหลัง มันยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย อย่างความคิดสร้างสรรค์และการดึงเอาประสิทธิภาพของเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างง่ายๆ ลองดู MySpace และ Facebook ที่เป็นโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกัน... แต่สุดท้ายใครเป็นผู้ชนะ เราก็คงรู้กันดีอยู่แล้ว

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย เอ็นโอไอ ไอทีจีเนียส
เข้าชม 1,691 ครั้ง

คำค้นหา : China Mobileคลื่นสัญญาณ 5G รถยนต์ไร้คนขับกล้องวงจรปิด Millimeter WavesInternet of Thingsเทคโนโลยีทางการสื่อสารเจียนซู่ หวังChina TelecomChina UnicomBaiduVirtual Reality Instagram Uber YouTube เชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT