ซับไพร์ม (Sub-Prime) วิกฤติที่ทำให้คนปวดหัวทั้งโลก

ซับไพร์ม (Sub-Prime) วิกฤติที่ทำให้คนปวดหัวทั้งโลก

หมวดหมู่: บทความทั่วไป

วิกฤติซับไพร์ม Sub-Prime เป็นหัวข้อที่มีการกล่าวถึงอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีนักวิเคราะห์ชื่อดังหลายท่านคาดว่าวิกฤติซับไพร์มจะลามไปทั้งโลก หลายท่านอาจจะสงสัยว่าซับไพร์มเป็นใคร แน่มาจากไหน ทำไมถึงทำโลกปั่นป่วนได้เพียงนี้

 

ตั้งแต่ประมาณช่วงสามสี่เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยร่วงกราวรูด เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา แถมมีข่าวว่าสถาบันการเงินของไทยหลายแห่งไปลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับซับไพร์ม และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มีเสียงเตือนดังๆ จากหลายฝ่ายทั่วโลกว่าศรษฐกิจโลกปีนี้คางเหลืองแน่นอน เพราะเจ้าซับไพร์มทำพิษ จนทำให้หลายท่านสงสัยว่าซับไพร์มเป็นใคร ทำไมถึงทำทุกคนปวดหัวได้ขนาดนี้

ซับไพร์ม มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Sub-Prime แปลว่าคุณภาพเป็นรอง หรือด้อย เรามักจะเอาคำนี้ไปขยายความโดยการต่อข้างหน้าในคำต่างๆ เช่น สินเชื่อที่คุณภาพรอง ก็เรียกว่า Sub-Prime Loan หากเป็นสินเชื่อคุณภาพรองที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ก็เรียกว่า Sub-Prime Mortgage ทีนี้เราจะมาค่อยๆ ย่อยปัญหาเล็ก เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ปัญหาใหญ่กันนะครับ


 

ชีวิตมนุษย์ต้องการมีบ้านซึ่งเป็นปัจจัยที่ 1 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งโดยปกติจะไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาซื้อบ้านกัน เนื่องจากบ้านมีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ อย่างไรก็ตามในชีวิตจริงมีผู้ขอกู้จำนวนมาก ที่ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือธนาคารเพื่อนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ แม้ว่าจะมีหลักประกันเป็นบ้านหรือที่ดิน (ซึ่งธรรมชาติของธนาคารก็คือโรงจำนำขนาดใหญ่ ไม่มีอะไรมาตึ๊งก็ไม่รับ) เนื่องจากธนาคารวิเคราะห์แล้วว่ารายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายของผู้ขอกู้ในแต่ละเดือนไม่เพียงพอที่จะมาจ่ายหนี้ได้

 

ทีนี้ผู้ขอกู้จะทำอย่างไรดี บ้านก็อยากได้ อสังหาริมทรัพย์ก็อยากลงทุน สถาบันการเงินดังๆ ทั้งหลายในสหรัฐอเมริกาที่มีบริษัทลูกที่คอยหาช่องว่างกฎเกณฑ์แบบศรีธนนชัย เลยสบช่องโอกาสนี้ จึงมีนวัตกรรมแบบวิศวกรรมการเงิน หรือ Financial Engineering ประดิษฐ์ตราสารหนี้แบบใหม่ขึ้นมา (ตราสารหนี้ก็เหมือนใบสัญญาเงินกู้ที่สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ต่อปี) ที่ออกมารองรับช่องว่างตลาดนี้ โดยการเป็นคนกลางขายตราสารหนี้นี้ให้กับคนที่มีเงินเหลือใช้ หรือสถาบันการเงิน หรือคนที่ต้องการผลตอบแทนสูงๆ (หรือโลภนั่นเอง) โดยให้ผลตอบแทนที่สูงมาก เพื่อจูงใจให้คนมาซื้อตราสารหนี้ (Risk Premium) และนำเงินที่ขายได้นี้ไปปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่ต้องการเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง แล้วสถาบันการเงินเหล่านี้ก็กินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย คำถามคือทำไมสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาถึงกล้าทำเช่นนี้ ไม่กลัวความเสี่ยงหรือ ทั้งที่วิเคราะห์แล้วว่าลูกหนี้เหล่านี้ไม่น่าจะมีปัญญาเอาเงินมาใช้หนี้ได้ คำตอบก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้พู่งปรี๊ด อันเนื่องมาจากการเก็งกำไร (เหตุผลหลัก) และการขยายตัวของครอบครัวเดี่ยว (ซึ่งต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง) ซึ่งเป็นคำตอบว่ายังไงก็ตามราคาอสังหาริมทรัพย์ (ที่เอามาตึ๊งไว้เป็นหลักประกัน) ที่พุ่งปรี๊ดนี้จะมาชดเชยความเสี่ยงได้อย่างสบาย เพราะราคายังไงก็มากกว่าวงเงินกู้อยู่แล้ว และชะล่าใจว่ายังไงคนเราคงไม่ทิ้งบ้าน ไม่มีเงินก็ต้องกัดฟันผ่อนไป

 

ยังไม่จบเรื่องนวัตกรรมการเงินแบบ Financial Engineering นะครับ หลังจากที่ออกตราสารหนี้ประเภทซับไพร์มนี้แล้ว กลับมีสถาบันการเงินดังๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และต่างประเทศต่างไปลงทุนซื้อตราสารที่มีหนี้เกรดสองเหล่านี้เป็นหลักประกันกันจำนวนมากมาย ตราสารเหล่านี้เรียกว่า ซีดีโอ หรือ Collateralized Debt Obligation (CDO) ทำให้บริษัทหรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ หนี้เกรดสองเหล่านี้ ออกตราสารมาขายโดยมีหนี้ซับไพร์มเป็นหลักประกัน (ในวงเงินไม่เต็มหลักประกัน) ที่มีดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก เพื่อให้มีเงินไปปล่อยกู้เพิ่มอีก และทำแบบนี้เป็นวงจรไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นซับไพร์มของซับไพร์มไปเป็นทอดๆ ซึ่งทำให้ซับไพร์มออกดอกออกผลแตกลูกหลานเหลนโหลนอย่างรวดเร็ว ?

 

ทุกอย่างดูเหมือนจะดีไปกับทุกฝ่าย แต่ปัญหาคือ ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันการเงินเหล่านี้ก็แข่งกันทำตลาดด้วยการเชิญชวนผู้ขอกู้ทั้งหลาย ทั้งผู้กู้เดิม และผู้กู้รายใหม่มาใช้บริการกับตนเอง ด้วยการเสนอวงเงินกู้ที่สูงขึ้นตามราคาประเมินของบ้านที่เพิ่มขึ้น เช่น เดิมกู้ในวงเงิน 2 ล้านบาท เพื่อซื้อบ้านราคา 2.5ล้านบาท อาจจะผ่อนไปบางส่วนจนเงินต้นเหลือ 1.8 ล้านบาท วันดีคืนดี ผู้ให้กู้ใจดีเหล่านี้ก็มาเสนอวงเงินกู้ให้ 3 ล้านบาท ตามราคาประเมินใหม่ ผู้กู้ก็ไม่รังเกียจอยู่แล้วครับ เพราะได้เงินเพิ่มมาอีกตั้ง 1.2 ล้านบาท ก็ไป Refinance (ไปกู้รายใหม่มาโปะรายเดิม) มีเงินเหลืออีก หลังจากหักค่าปรับที่คืนเงินกู้ก่อนเวลา อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันทั้งหลาย ซึ่งเคยชินกับการใช้เงินอนาคต ก็นำเงินสินเชื่ออีก 1.2 ล้านบาทที่ได้เพิ่มนั้นมาใช้จ่าย ซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ทีวีจอแบนเครื่องใหม่ เครื่องเสียงสุดหรู รถยนต์คันใหม่ เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

 

อย่างไรก็ตามการเก็งกำไร ก็คือการเก็งกำไรครับ ย่อมมีผู้ได้กำไร และแมลงเม่า (ซึ่งปกติจะเป็นผู้ลงทุนรายย่อย เพราะสายป่านไม่ยาว) ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้มาถึงจุดอิ่มตัวเมื่อปลายปี 2549 ? 2550 และราคาต้องร่วงตามวัฏจักร (โลกนี้ไม่มีอะไรยั่งยืน) บวกกับเศรษฐกิจอเมริกาที่มีไขมันจับเป็นช้างเดินได้ เนื่องจากคนอเมริกันเป็นชนชาติที่ฟุ่มเฟือย บริโภคอะไรทิ้งๆ ขว้างๆ เปิดไฟทิ้งไว้ไม่เคยปิด หรือบริโภคเกินตัวด้วยการเอาเงินอนาคตมาใช้อยู่ประจำ ด้วยการซื้อของที่ผลิตในต่างประเทศ (เนื่องจากราคาถูกกว่า) เช่น จากประเทศจีน และประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมไปถึงการนำเงินงบประมาณไปทำสงคราม จนดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศติดลบอ่วมอรทัย ซึ่งแก้ปัญหาไม่ยากด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลให้กับประเทศคู่ค้าของอเมริกาต่างๆ เช่น จีน หรือญี่ปุ่น (ซึ่งปัจจุบันถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันซะเต็มสองมือ และสองเท้า) ประเทศเหล่านี้ก็ซื้อ เพราะไม่งั้นแล้วหากเศรษฐกิจอเมริกาล่ม จะพาลแย่ไปทั้งหมด เนื่องจากจะขายของไม่ได้ เพราะพี่ Big Spenderไม่มีเงิน ซึ่งเราทุกคนต้องมาหาทางช่วยช้างลดความอ้วนกันดีกว่า 


แต่กาลกลับสายไปแล้วครับ จากเหตุผลข้างต้นที่เศรษฐกิจอเมริกันถึงคราวชอกช้ำ เงินในระบบเริ่มชอร์ต เนื่องมาจากเอาเงินในอนาคตมาใช้หมดแล้ว (ด้วยอิทธิฤทธิ์บัตรเครดิต และเงินกู้) คนเริ่มไม่มีเงินผ่อนบ้านและที่ดินกัน แถมราคาที่ดินก็ร่วงอีก ทำให้สถาบันการเงินเริ่มรู้แล้วว่าวงเงินปล่อยกู้มันได้สูงกว่าราคาประเมินแล้ว (แปลง่ายๆ ว่าความเสี่ยงสูงกว่าผลตอบแทน) โดนไปสองเด้งสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ปล่อยกู้มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นแบบแทบไม่ทันกระพริบตา ก็ต้องตั้งสำรองเงินไว้ (ตามกฎที่ต้องปกป้องส่วนของเงินฝากไว้) และเข้มงวดกับการปล่อยกู้มากขึ้น (แบบวัวหายล้อมคอก) ทำให้เงินในระบบฝืดลงไปอีก จนคาดว่าจะกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจอเมริกาล่มสลาย เพราะว่าหมดตัวจริงๆ แถมหนี้ท่วมหัวครับ ที่แย่อีกประการก็คือสถาบันการเงิน หรือคนซื้อตราสารหนี้ประเภทซับไพร์มทั้งแบบปู่ และแบบแตกลูกหลาน อยู่ในภาวะมืดมน มูลค่าตราสารหนี้หดลงแบบลงลิฟต์จากตึกเอ็มไพร์เสตท เพราะว่ามันกำลังจะกลายเป็นเศษกระดาษในอีกไม่ช้า ทำให้ต้องกันสำรองส่วนนี้เพิ่มนอกจากขาดทุนแบบปกติแล้ว เนื่องจากเป็นการขาดทุนแบบไม่ปกติ (โลภอีกแล้วครับท่าน)

คราวนี้มาดูกันว่าวิกฤติซับไพร์มรอบนี้พ่นพิษกับเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอย่างไร อย่างแรกที่ใกล้ตัวเราและเห็นกันจะๆ ก็คือค่าเงินบาท ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งโป๊กเป็นหินในรอบ 10 ปี หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ประมาณ 33บาทกว่าๆ และคาดว่าจะแข็งไปถึง 32 บาท ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คราวนี้ใครเดือดร้อนครับ ก็ผู้ผลิต และผู้ส่งออกที่ไม่ได้อาศัยต้นทุนการผลิตที่เป็นสินค้า หรือวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ (เพราะว่าผู้ผลิตบางรายที่ใช้ต้นทุนวัตถุดิบจากต่างประเทศจะได้อานิสงจากค่าเงินบาทแข็ง คือซื้อของได้ถูกลง) แถมสหรัฐอเมริกาก็เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของเราซะด้วย เมื่อราคาของแพงขึ้น (เมื่อเทียบเป็นเงินดอลล่าห์สหรัฐ) และคนอเมริกันมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เราก็ลำบาก เพราะว่าขายของไม่ออก ก็ไม่มีเงินเข้าประเทศ ผู้ผลิตก็ไม่กล้าขยายกำลังการผลิต หรือลดกำลังการผลิตลงไปอีก (ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาการเมืองที่คอยซ้ำเติมอีกนะครับ) ทีนี้การจ้างงานก็ลด คนก็ขาดความเชื่อมั่น กำลังการจับจ่ายใช้สอยก็หด เศรษฐกิจก็ถอยครับ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือสถาบันการเงินหบายแห่งในประเทศไทย แพลมออกมาว่า ข้าพเจ้าก็กำตราสารหนี้ประเภทซับไพร์ม ซีดีโอ ไว้หลายใบเหมือนกัน แบบนี้ก็แปลว่าสถาบันการเงินจะขาดทุน ต้องกันสำรอง และทำให้ปล่อยกู้ได้ไม่มากในภาวะที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้


 


 

ปัญหาแบบเดียวกับไทยนี้ กำลังลามไปหลายประเทศที่เป็นคู่ค้า และเจ้าหนี้ของสหรัฐอเมริกา เช่น จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ อาจจะต่างกันที่ปัญหาค่าเงิน เพราะว่าบางประเทศเช่น จีน ผูกค่าเงินหยวนกับเงินดอลล่าห์สหรัฐ ทีนี้ถ้าเป็นดังที่คาดการณ์ไว้ แปลว่าทุกประเทศต้องชะลอกำลังการผลิต เพราะว่าพี่ใหญ่ใจดี ไม่มีเงินแล้ว ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศ แบบวงจรข้างต้นครับ เว้นแต่ว่าประเทศนั้นจะมีฐานเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่งก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ผลกระทบนี้อาจจะทำให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัว เศรษฐกิจโลกก็ชะงักครับ

 

จริงๆ แล้วปัญหาเศรษฐกิจอเมริกันลามท่วมทุ่งนี้ ช้าเร็วก็ต้องเกิด แต่ปัญหาซับไพร์มเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา หรือในภาษาเคมีเรียกว่า Catalyst ให้เกิดเร็วขึ้นนั่นเองครับ?

 


ที่มา  https://www.vcharkarn.com

 

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 4,227 ครั้ง

คำค้นหา : วิกฤติโลกตลาดหุ้นทั่วโลกสินเชื่อที่คุณภาพรองซับไพร์มเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทยนวัตกรรมการเงินตราสารการเงิน