แพทย์แนะ “โควิด-19” ระลอกใหม่ อยู่อย่างไรให้รอด
- อาการของโรคโควิด-19 คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ หายใจหอบเหนื่อย นอกจากนี้ในการระบาดระลอก 3 ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตาแดง มีผื่นแดงเป็นปื้นๆ คล้ายผื่นลมพิษบริเวณแขน ขา ลำตัว
- ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีเชื้อโควิด-19 ต้องกักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้อหลังจากพบผู้ป่วยไปแล้ว 5 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ คือ ผู้ที่สัมผัสผู้สัมผัสเสี่ยงสูงนั้น ไม่ต้องกักตัว แต่ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และสังเกตอาการตัวเองเป็นเวลา 14 วัน
- การฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 50-90% จึงยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ แต่วัคซีนจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำ และลดความรุนแรงของโรคเมื่อติดเชื้อซ้ำได้
เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ดูจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยอดติดเชื้อสะสมในแต่ละวันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับรอบก่อนๆ และด้วยโรคโควิด-19 นั้น ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย ติดได้กับทุกคน นอกจากการใช้ชีวิตแบบ New Normal แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "วัคซีน" คือความหวังก้อนใหญ่ของประชาชนคนไทยอยู่ในขณะนี้
เราต้องอยู่กับ โควิด-19 ไปอีกนานแค่ไหน
พญ.สมรรจน์ ลิ้มมหาคุณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า หากดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โรคโควิด-19 น่าจะอยู่กับเราไปอีกประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ หากประชากรทั้งโลกสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่า 70% ของประชากรทั้งหมด ก็จะกระตุ้นให้เกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) อย่างน้อยภูมิต้านทานของเราน่าจะต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ได้บ้าง และถ้าหากประชากร 70% เหล่านั้นได้รับวัคซีนอย่างทันท่วงทีกับไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ ก็หวังได้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะสงบลงได้
หากคำนวนจากจำนวนประชากรทั้งโลกที่มีมากกว่า 7,000 ล้านคน ขณะนี้ความเร็วในการฉีดวัคซีนทั่วโลกนั้นมีเพียงแค่วันละ 15 ล้านโดส ซึ่งเทียบเท่ากับฉีดได้วันละ 7 ล้านคนเท่านั้น หากต้องการฉีดให้ครบ 7,000 ล้านคน ก็ต้องใช้เวลาถึง 1,000 วันเลยทีเดียว (ประมาณ 3 ปี) เพราะฉะนั้น ถ้าหากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เร็วขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเร็วในการฉีดให้เร็วกว่านี้ นั่นคือ การฉีดจำนวนโดสให้มากขึ้นในแต่ละวันเพื่อย่นระยะเวลาการฉีดให้น้อยลง
เราอยู่ส่วนไหนของการระบาด
เมื่อมีข่าวว่าคนใกล้ชิดมีการติดเชื้อโควิด-19 นั้น หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงมากแค่ไหน ทั้งนี้ สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้
- วง 1: สมมติว่ามีคนหนึ่งเป็นผู้ป่วย (นาย ก) และมีคนเข้าไปใกล้หรือสัมผัสนาย ก ก็จะเรียกคนๆ นั้นว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (นาย ข) คือ เคยอยู่ใกล้กันในพื้นที่แคบๆ รัศมีประมาณ 1 เมตร พูดคุยกันต่อเนื่องนาน 15 นาที โดยที่ใส่หรือไม่ใส่แมสก์ก็ตาม ทั้งนี้ แนะนำให้ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (นาย ข) กักตัว 14 วัน ไม่ใกล้ชิดกับใคร ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ป่วยครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ตรวจก่อนถึงวันที่ 5 หลังจากสัมผัสผู้ป่วยครั้งแรก เพราะตรวจแล้วอาจพบผลลบลวงเนื่องจากเชื้อยังอยู่ในระยะฟักตัว จึงตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น หากพบผลลบลวงนี้อาจคิดได้ว่าตัวเองไม่มีเชื้อโควิด-19 และออกไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ทั้งที่ตัวเองมีเชื้ออยู่ จึงอาจเป็นการแพร่กระจายเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้
- วง 2: ผู้ที่มาสัมผัสใกล้ชิดคนที่อยู่ในวง 1 อีกที โดยไม่ได้สัมผัสกับคนที่มีเชื้อ (นาย ก) โดยตรง เรียกว่าเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (นาย ค) โดยอาจจะแค่เดินผ่าน พูดคุยไม่ถึง 1 นาทีโดยมีการสวมหน้ากากแต่ไม่ได้สัมผัสกัน อยู่ห่างกัน 1-2 เมตร หรือเป็นเพื่อนร่วมงานกับคนในวง 1 เท่านั้น แนะนำให้ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (นาย ค) สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือพื้นที่เสี่ยง และสังเกตอาการ 14 วัน แต่ไม่ต้องกักตัว
- วง 3: ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงจากผู้ป่วยรายนี้ อาจเป็นคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน อยู่ในคอนโดเดียวกัน เบื้องต้นแนะนำให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันตัวเอง แต่ไม่ต้องกักตัว
กักตัวที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย
ปัญหาจำนวนเตียงไม่พอ ถือว่าเป็นปัญหาหลัก ณ ขณะนี้ (26 เมษายน 2564) เพราะว่ามีคนที่ตรวจแล้วเจอผลเป็นบวกจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีจำนวนเตียงจำกัด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ หากตรวจแล้วได้ผลเป็นบวก ยังประสานหาสถานที่กักตัวไม่ได้ เช่น ไม่มีเตียง เตียงเต็ม หรือสถานที่กักตัวทางเลือกอื่นไม่ว่าง สามารถดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านไปก่อน รับประทานยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ (หากมีอาการ) ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องดื่มน้ำเยอะๆ อย่างน้อยประมาณ 3 ลิตรต่อวัน อาจจะใส่น้ำผึ้งมะนาวได้ รับประทานวิตามินซีเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันก็สามารถทำได้ และรับประทานอาหารผัก ผลไม้ อาหารที่มีประโยชน์ ร่วมกับการสังเกตอาการของตัวเอง
นอกจากนั้นแล้ว ต้องมีการแยกพื้นที่ในบ้านอย่างชัดเจน อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร ไม่ใช้ของใช้จำพวกจาน ช้อน ส้อม แก้วน้ำร่วมกัน แต่หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันกับคนในบ้าน สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ความสะอาดของจุดสัมผัส ซึ่งจุดสัมผัสที่พบเชื้อได้เยอะ เช่น ลูกบิดประตู ซิงค์น้ำ ก๊อกน้ำ หรือฝักบัวนั้น หากใช้เสร็จแล้ว ให้เอาแผ่นแอลกอฮอล์ ทิชชู่เปียกที่พ่นแอลกอฮอล์ หรือผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ เช็ดทำความสะอาด และแยกเวลาการใช้ห้องน้ำกับผู้อื่นในบ้าน รวมถึงหากทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว ก่อนกดชักโครกให้ปิดฝาชักโครกก่อนแล้วค่อยกด เนื่องจากมีรายงานว่าหากมีเชื้อโควิด-19 ปะปนออกมากับปัสสาวะ เชื้ออาจมีการฟุ้งกระจายได้หากเรากดชักโครกโดยไม่ปิดฝาชักโครก
อาการของเชื้อระลอกนี้เป็นอย่างไร และอาการแบบไหนควรรีบปรึกษาแพทย์
อาการแสดงเริ่มแรกจากการติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกนี้คือ มีไข้สูง ถ้าไม่มีไข้ในวันแรก ก็อาจจะมีไข้ในวันที่ 4 หรือ 5 และปวดเมื่อยตามร่างกาย จากนั้นบางคนก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น ปวดเนื้อปวดตัว ปวดไปถึงกระดูก ไอเยอะขึ้น เจ็บคอ หายใจติดขัด หรือหายใจแล้วรู้สึกแน่นหน้าอก อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่าอาการเริ่มหนัก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
ทั้งนี้ ในทางกลับกัน หากตรวจแล้วมีผลเป็นบวกและไม่มีอาการแสดงหรือมีแต่น้อยมาก เช่น อาการเหมือนเป็นหวัดธรรมดา ไม่มีไข้ ปัจจุบันก็มีทางเลือกอื่นในการกักตัว โดยมีลักษณะเป็น Hospitel ซึ่งหลักการของ Hospitel คือ จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลประจำที่ Hospitel เพื่อเช็คอุณหภูมิหรือประเมินอาการเบื้องต้นในแต่ละวัน หากพบความผิดปกติจะส่งผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลทันที
ระหว่างไข้หวัดธรรมดา กับ โรคโควิด-19 ต่างกันอย่างไร
อาการไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูกใส ไข้ต่ำๆ ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส มีอาการไอนิดหน่อย เจ็บคอบ้าง จะเป็นเค่ 3-5 วันก็หาย และมักไม่มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว
ส่วนอาการของโรคโควิด-19 อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือ มีไข้สูง 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป ปวดเมื่อยเนื้อตัวเยอะเหมือนไข้หวัดใหญ่ บางคนปวดถึงกระดูก เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ ในระลอก 3 มีอาการที่เพิ่มขึ้นมา คือ ตาแดง มีผื่นแดงเป็นปื้นๆ คล้ายผื่นลมพิษ (พบประมาณ 10%) บริเวณแขน ขา ลำตัว บางคนมีตุ่มน้ำใสคล้ายๆ อีกสุกอีใส
วิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ณ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2564) ยังไม่มียาต้านไวรัสที่เฉพาะกับเชื้อโดยตรง แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้ก็รับประทานยาลดไข้ หากมีอาการไอก็รับประทานยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็รับประทานยาลดน้ำมูก เป็นต้น
แต่หากมีอาการมากขึ้น เช่น เอกซเรย์ปอดแล้วเริ่มเห็นความผิดปกติ มีไข้สูง ร่วมกับการมีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคไต โรคตับ หรือโรคทางหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งคนที่ตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ต้องรีบติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา แพทย์จะให้การรักษาทางยาซึ่งมีทั้งยาฉีดและยารับประทาน ทั้งหมดนี้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
อาการข้างเคียงหรือ อาการแพ้หลังจากฉีดวัคซีน
เนื่องจากตัวโรคและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ยังมีข้อมูลให้อ่านและศึกษาได้น้อย จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดความกลัวและไม่มั่นใจในการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ แพทย์แนะนำว่า หากมีโอกาสฉีดวัคซีนก็สามารถฉีดได้ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร เพราะอย่างไรก็ตามการได้รับวัคซีนก็ยังดีกว่าการไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากหากได้รับวัคซีนแล้ว อย่างน้อยก็สามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้มากกว่า 50% อีกทั้งวัคซีนแต่ละตัวก็มีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยมาก หลังการฉีดคนไข้อาจรู้สึกปวดเมื่อยในตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งจะเป็นประมาณ 1 – 2 วันเท่านั้น และอย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า เราต้องทำการฉีดให้ได้ 70% ของประชากรทั้งโลก ถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และจะสามารถป้องกันตัวโรคได้ ดังนั้น หากเราเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เราก็สามารถที่จะป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในขณะนี้ (23 เมษายน 2564) ยังไม่พบหลักฐานพิสูจน์ว่ามีการเสียชีวิตจากการแพ้วัคซีน แต่อย่างไรก็ตามก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่มีน้อยมากๆ เพียงแค่ 1 ในล้านโดสเท่านั้น
การฉีดวัคซีนกับการติดเชื้อซ้ำ
เพราะฉะนั้นจึงยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ แต่การที่เราฉีดวัคซีน จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำ และลดความรุนแรงของโรคเมื่อเราติดเชื้อซ้ำได้ ส่งผลให้เมื่อเกิดการติดเชื้อซ้ำอาการอาจไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย
เนื่องจากหากมีการฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ และสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกันจำนวนมาก สถานที่แออัด ผู้คนพลุกพล่าน หรือการเที่ยวผับ/บาร์ต่างๆ เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท มีการตะโกนคุยกัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อได้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ควรเว้นระยะห่างกันนานแค่ไหน
ควรเว้นระยะห่างประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ฉีดพร้อมกัน เพราะหากเกิดอาการข้างเคียง จะไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากวัคซีนตัวไหน
สุดท้ายแล้ว เราควรสังเกตตัวเองว่าเคยมีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และคอยตรวจเช็คอาการของตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นแดงเป็นปื้นๆ ขึ้น ไม่ต้องตกใจ เพราะการมีผื่นขึ้นหรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคโควิด-19 เพราะโรคโควิด-19 นั้นจะมีอาการแสดงหลายอย่างร่วมกัน เช่น มีผื่นขึ้นร่วมกับการมีไข้สูงและมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวด้วย และทำการสังเกตอาการตัวเองคู่ขนานไปกับการดูประวัติด้วยว่าเคยมีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยงมาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและเหตุผลด้านอื่นๆ หากจะให้เกิดการล็อคดาวน์ทุกครั้งที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น การกลับมาใช้ชีวิตประจำวันแบบ New Normal เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และสำคัญที่สุดคือการได้รับวัคซีนเสริมสร้างเกราะป้องกันเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายและเพื่อให้การระบาดของโรคหมดไปในท้ายที่สุด
ที่มา:
ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting
ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ
Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFeFacebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ
Basic OpenOffice.org
หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปใช้งานในธุรกิจทั่วไป ใน OpenOffice ประกอบไปด้วยโ...
Advanced Angular ขั้นสูง
หลักสูตรขั้นสูงใน Angular นี้ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนา Application ด้วย Angular...
พัฒนาแอพแบบ Cross Platform สำหรับ Android และ iOS ด้วย Ionic Framework ขั้นสูง
หลักสูตรการพัฒนาแอพแบบ Cross Platform สำหรับ Android และ iOS ด้วย Ionic Framework ขั้นส...
Microsoft Outlook 2016/2019 ขั้นสูง
Microsoft Outlook 2016 ถือเป็นเครื่องมือด้านการจัดการอีเมล์และปฏิทินตัวล่าสุดจาก Micros...
Microsoft SQL Server 2017 for Administration
Microsoft SQL Server 2017 มาพร้อมคุณสมบัติใหม่ ๆ มากมาย ทั้งด้านการ monitoring, securin...
คำค้นหา : โควิด-19อาการของโรคโควิด-19ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงการฉีดวัคซีนสถานที่กักตัวรับประทานยาลดไข้รับประทานวิตามินซีปรึกษาแพทย์ปวดเนื้อปวดตัวแน่นหน้าอกไข้หวัดธรรมดาการแพ้วัคซีนสวมหน้ากากอนามัยไข้หวัดใหญ่ประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยงการล็อคดาวน์