6 แนวทางในการสอนบุตรหลานใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย

6 แนวทางในการสอนบุตรหลานใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

6 แนวทางในการสอนบุตรหลานใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย

“คนสมัยนี้เลี้ยงลูกด้วยมือถือ” นี่เป็นภาพที่เราเห็นกันอย่างชินตาที่สุด ว่าเด็ก ๆ ในยุคสมัยนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ยังตัวน้อย ๆ โดยผู้ปกครองเลือกที่จะทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีอะไรทำ ไม่ก่อความวุ่นวายใด ๆ ผู้ปกครองจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ระหว่างนั้นเด็กก็จะหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์ เพราะเข้าใจว่าโทรศัพท์มือถือก็คือของเล่นอย่างหนึ่ง จากนั้นก็ไถดูคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียที่มีทั้งดีและไม่ดี ยิ่งใช้ก็ยิ่งติด และถ้าผู้ปกครองไม่ควบคุมการเล่นโทรศัพท์ของบุตรหลานเลย อาจเลยเถิดไปถึงขั้นเสพติด ถึงเวลานั้นก็ยากเกินเยียวยา

จริง ๆ มันมีเหตุผลว่าทำไมพ่อแม่ผู้ปกครองควรที่จะเข้ามาควบคุมการเล่นโทรศัพท์ของบุตรหลานอย่างใกล้ชิดมากกว่าปล่อยให้เด็กเล่นตามใจชอบ ด้วยเด็กนั้นยังขาดวุฒิภาวะ ขาดประสบการณ์ ขาดการคิดไตร่ตรอง (ขนาดผู้ใหญ่บางคนยังมีปัญหา) และที่สำคัญก็คือ มันไม่ดีต่อพัฒนาการของเด็กเลย มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบความเชื่อมโยงของอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตของเด็กและวัยรุ่น อันเนื่องมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย

ผลของการวิจัยต่าง ๆ ค่อนข้างชัดเจนว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้เหมาะสำหรับเด็ก และเป็นเรื่องแย่มาก ๆ หากไร้การควบคุมหรือคำแนะนำใด ๆ จากผู้ใหญ่ ในเมื่อโซเชียลมีเดียอาจเป็นโทษต่อเด็กมากกว่าเป็นคุณ พ่อ แม่ ผู้ปกครองทั้งหลายจึงควรใส่ใจดูแลบุตรหลานของท่านให้ดี

โซเชียลมีเดียมีทั้งประโยชน์และโทษ นั่นหมายความว่าเราไม่ได้ห้ามผู้ใหญ่ว่าห้ามเอาโซเชียลมีเดียให้เด็กใช้เด็ดขาด แต่อะไรที่มากเกินไปมันก็ไม่ดี และที่สำคัญ อะไรที่มันไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กมันก็ไม่ดีเช่นกัน รอให้พวกเขาโตอีกสักหน่อยค่อยผ่อนปรนให้พวกเขามากขึ้นก็ยังไม่สาย ในเวลานี้ ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนยังพยายามตัดขาดชีวิตตัวเองออกจากสื่อโซเชียลมีเดีย เพราะคิดว่ามันเป็นพิษต่อชีวิตของตนเองมากเกินไป แล้วทำไมคุณถึงยังกล้าที่จะปล่อยบุตรหลานของตนเองให้อยู่กับสื่อโซเชียลมีเดียตามลำพังโดยไม่มีการควบคุมดูแลหรือแนะนำอะไรเลยล่ะ!

ลองมาดูวิธีในการสอนบุตหลานเล่นโซเชียลมีเดียกันเสียหน่อย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพ่อ แม่ ผู้ปกครองไว้ใช้สอนบุตรหลาน ในการเล่นโซเชียลมีเดียอย่างพอดี ปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลลัพธ์ด้านลบกับตัวเด็กลงด้วย

1. เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ควรมีบัญชีโซเชียลเป็นของตนเอง

จริง ๆ แล้ว ตามกฎข้อบังคับของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ มักจะมีการกำหนดอายุของผู้ที่จะสมัครบัญชีว่าจะต้องอายุไม่ต่ำกว่า 13 ปี โดยจะกำหนดให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลวันเดือนปีเกิด เพื่อคัดกรองไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี สร้างบัญชีส่วนตัวได้ ถ้าจะสร้างจะต้องระบุว่ามีผู้ปกครองหรือผู้ที่จัดการบัญชี แต่ที่น่าสนใจก็คือ เด็กสมัยนี้ฉลาดพอที่จะปลอมแปลงวันเดือนปีเกิดของตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากมีกฎหมายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็ก โดยเป็นกฎหมายที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็ต้องปฏิบัติตามเช่นกัน

2. อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป

เด็กนั้นยังมีประสบการณ์น้อย เมื่อพวกเขาได้ยินได้เห็นอะไรก็มักจะเชื่อว่ามันแบบนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรอธิบายให้ลูกฟังเสมอว่าทุกอย่างที่เห็น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่เรื่องที่เเกิดขึ้นจริงเสมอไป ทุกอย่างสามารถคัดเลือก จัดฉาก หรือโกหกหลอกลวงได้ทั้งนั้น

อย่างภาพผู้หญิงสวย ๆ ที่เด็กพบเห็นก็ต้องอธิบายว่ามันมีตั้งแต่การเลือกนางแบบ มีมุมกล้อง มีการจัดแสง การตัดแต่งรูปภาพ มีแอปฯ ช่วย อื่น ๆ อีกสารพัด เพื่อลดปัญหาเด็กเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ บนโลกออนไลน์ หรือกังวลกับความงามตนเองแล้วด้อยค่าตัวเองจนขาดความมั่นใจ หรือการเลียนแบบความงามแบบผิด ๆ ใช้วิธีที่อันตราย หรือการเห็นคนอื่น ๆ มีข้าวของแพง ๆ ใช้แล้วอยากมีบ้าง ก็พยายามแบบผิด ๆ เพื่อให้มีตาม

นอกจากนี้ เด็กยังเป็นเหยื่อชั้นดีของแก๊งมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกเด็กให้ทำเรื่องไม่ดี การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การก่ออาชญากรรมทางเพศ หรือหลอกเอาตัวตนที่พวกเขาเปิดเผยไปใช้ในทางมิชอบ เพราะเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับมิจฉาชีพที่จะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อขโมยตัวตนของเด็ก หรือการที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบโพสต์เรื่องราวและรูปภาพของลูกก็อันตรายต่อเด็กเช่นกัน การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกบนสื่อออนไลน์ อาจทำให้เด็กถูกค้นเจอโดยมิจฉาชีพ นำมาสู่การหลอกลวง ลักพาตัว และอื่น ๆ ได้มากมาย

3. ควบคุมระยะเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กเล็ก ไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง

เด็กเล็ก ๆ เป็นวัยที่มีพัฒนาการการเติบโตสูง พวกเขาควรใช้ชีวิตด้วยการออกไปวิ่งเล่น เข้าสังคมกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน ซึ่งการที่เด็กติดโซเชียลมีเดีย นั่งเล่นนั่งดูทั้งวันก็ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย อาจทำให้เด็กป่วยบ่อย ร่างกายไม่แข็งแรง นอนหลับยาก สมาธิสั้น ผลต่อพัฒนาการทางจิตใจ เด็กสับสนกับสังคมโลกเสมือนจนแยกไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ลุ่มหลงในโลกจอมปลอม ผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ อารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด รอคอยไม่เป็น ผลต่อพัฒนาการทางสังคม เข้ากับใครไม่ได้ แอนตี้สังคม ขาดมนุษยสัมพันธ์ และผลกระทบต่อการเรียน

เด็กควรมีพัฒนาการต่าง ๆ ไปตามวัยแบบที่พวกเขาควรจะได้รับ แต่ถ้าเด็กหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นโซเชียลมีเดีย เวลาที่เด็กหมดไปกับโซเชียลมีเดีย ยิ่งมากเท่าไรก็สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจของเด็กเพิ่มขึ้นด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรจำกัดระยะเวลาการใช้โซเชียลมีเดียของบุตรหลาน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยอาจใช้วิธีพูดคุย ตกลงทำความเข้าใจ การตั้งค่าในสมาร์ทโฟนของบุตรหลาน หรือจะมีกฎของบ้านที่ชัดเจน ทุกคนต้องปฏิบัติตามก็ดีเหมือนกัน

4. สร้างกฎการใช้โทรศัพท์มือถือ แบบที่ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติตาม ไม่มีข้อยกเว้น

เด็กเรียนรู้และเลียนแบบจากตัวอย่างที่เห็น หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเป็นตัวอย่างที่ให้กับเด็กได้ ก็มีแนวโน้มว่าเด็กจะปฏิบัติตาม ยิ่งถ้าสามารถสร้างกฎของครอบครัวที่เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ทุกคนในครอบครัวต้องปฏิบัติตาม เช่น ห้ามใช้โทรศัพท์ระหว่างกินข้าว ห้ามนำโทรศัทพ์มือถือมาวางที่โต๊ะอาหาร หากทุกคนในบ้านเคารพกฎ ปฏิบัติตามกฎเป็นอย่างดี ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้นอะไรเป็นพิเศษ มันก็จะทำให้ผู้ใหญ่พูดคุยกับเด็กได้ง่ายขึ้น พวกเขาจะไม่มีคำอ้างว่า “ทีพ่อแม่ยัง…เลย”

5. ใส่ใจและสังเกตเด็กหลังจากการเล่นโซเชียลมีเดียเสมอ

ผู้ใหญ่อาจใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็ก หรือจะเรียกมาคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเลยก็ได้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการเล่นโซเชียลมีเดีย มีความรู้สึกแย่บ้างไหม ถ้ามีคือเรื่องอะไร พบเจอคนแปลก ๆ ไม่ชอบมาพากลบ้างไหมในขณะที่เล่น หรือเข้าไปดูอะไรมาบ้าง แล้วเด็กเลียนแบบพฤติกรรมแปลก ๆ มาหรือเปล่า ควรดูด้วยว่าบุตรหลานของตัวเองติดตามใครบ้าง ลองถามพวกเขาดูว่าคนที่พวกเขาติดตามทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร ถ้าเด็กมีปัญหา มีความรู้สึกแย่ ๆ หรือไปติดพฤติกรรมไม่ดีมาจากบัญชีไหน ก็ให้เลิกติดตามบัญชีนั้น ๆ

6. สอนวิธีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัยให้กับเด็ก

เพราะไม่มีทางที่ผู้ปกครองจะห้ามเด็กใช้โซเชียลมีเดียได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา เด็กเองก็อยากมีอิสระและทำอะไรตามลำพัง การเข้มงวดแบบผิดวิธีอาจทำให้เด็กเก็บกดจนเตลิด ฉะนั้น จึงควรสอนให้เด็ก “รู้เท่าทันการใช้โซเชียลมีเดีย” สอนพวกเขา “ใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย” เช่น เปิดการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว (ที่เป็นไปได้ทั้งหมด) เน้นย้ำเรื่องการโพสต์หรือแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวลงบนโซเชียลมีเดีย อย่าเชื่ออะไรใครง่าย ๆ แม้จะเป็นคนรู้จัก และควรบอกผู้ใหญ่หากมีการติดต่อกับคนที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว เป็นต้น

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th

แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ

user
โดย เอ็นโอไอ ไอทีจีเนียส
เข้าชม 1,459 ครั้ง

คำค้นหา : โทรศัพท์มือถือโซเชียลมีเดียบัญชีโซเชียลโลกออนไลน์แก๊งมิจฉาชีพการค้ามนุษย์การก่ออาชญากรรมทางเพศการใช้แรงงานเด็กมิจฉาชีพการใช้โทรศัพท์มือถือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสื่อโซเชียลมีเดีย