6 แนวทางในการสอนบุตรหลานใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย
“คนสมัยนี้เลี้ยงลูกด้วยมือถือ” นี่เป็นภาพที่เราเห็นกันอย่างชินตาที่สุด ว่าเด็ก ๆ ในยุคสมัยนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ยังตัวน้อย ๆ โดยผู้ปกครองเลือกที่จะทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีอะไรทำ ไม่ก่อความวุ่นวายใด ๆ ผู้ปกครองจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ระหว่างนั้นเด็กก็จะหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์ เพราะเข้าใจว่าโทรศัพท์มือถือก็คือของเล่นอย่างหนึ่ง จากนั้นก็ไถดูคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียที่มีทั้งดีและไม่ดี ยิ่งใช้ก็ยิ่งติด และถ้าผู้ปกครองไม่ควบคุมการเล่นโทรศัพท์ของบุตรหลานเลย อาจเลยเถิดไปถึงขั้นเสพติด ถึงเวลานั้นก็ยากเกินเยียวยา
จริง ๆ มันมีเหตุผลว่าทำไมพ่อแม่ผู้ปกครองควรที่จะเข้ามาควบคุมการเล่นโทรศัพท์ของบุตรหลานอย่างใกล้ชิดมากกว่าปล่อยให้เด็กเล่นตามใจชอบ ด้วยเด็กนั้นยังขาดวุฒิภาวะ ขาดประสบการณ์ ขาดการคิดไตร่ตรอง (ขนาดผู้ใหญ่บางคนยังมีปัญหา) และที่สำคัญก็คือ มันไม่ดีต่อพัฒนาการของเด็กเลย มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบความเชื่อมโยงของอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตของเด็กและวัยรุ่น อันเนื่องมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย
ผลของการวิจัยต่าง ๆ ค่อนข้างชัดเจนว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้เหมาะสำหรับเด็ก และเป็นเรื่องแย่มาก ๆ หากไร้การควบคุมหรือคำแนะนำใด ๆ จากผู้ใหญ่ ในเมื่อโซเชียลมีเดียอาจเป็นโทษต่อเด็กมากกว่าเป็นคุณ พ่อ แม่ ผู้ปกครองทั้งหลายจึงควรใส่ใจดูแลบุตรหลานของท่านให้ดี
โซเชียลมีเดียมีทั้งประโยชน์และโทษ นั่นหมายความว่าเราไม่ได้ห้ามผู้ใหญ่ว่าห้ามเอาโซเชียลมีเดียให้เด็กใช้เด็ดขาด แต่อะไรที่มากเกินไปมันก็ไม่ดี และที่สำคัญ อะไรที่มันไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กมันก็ไม่ดีเช่นกัน รอให้พวกเขาโตอีกสักหน่อยค่อยผ่อนปรนให้พวกเขามากขึ้นก็ยังไม่สาย ในเวลานี้ ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนยังพยายามตัดขาดชีวิตตัวเองออกจากสื่อโซเชียลมีเดีย เพราะคิดว่ามันเป็นพิษต่อชีวิตของตนเองมากเกินไป แล้วทำไมคุณถึงยังกล้าที่จะปล่อยบุตรหลานของตนเองให้อยู่กับสื่อโซเชียลมีเดียตามลำพังโดยไม่มีการควบคุมดูแลหรือแนะนำอะไรเลยล่ะ!
ลองมาดูวิธีในการสอนบุตหลานเล่นโซเชียลมีเดียกันเสียหน่อย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพ่อ แม่ ผู้ปกครองไว้ใช้สอนบุตรหลาน ในการเล่นโซเชียลมีเดียอย่างพอดี ปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลลัพธ์ด้านลบกับตัวเด็กลงด้วย
1. เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ควรมีบัญชีโซเชียลเป็นของตนเอง
จริง ๆ แล้ว ตามกฎข้อบังคับของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ มักจะมีการกำหนดอายุของผู้ที่จะสมัครบัญชีว่าจะต้องอายุไม่ต่ำกว่า 13 ปี โดยจะกำหนดให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลวันเดือนปีเกิด เพื่อคัดกรองไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี สร้างบัญชีส่วนตัวได้ ถ้าจะสร้างจะต้องระบุว่ามีผู้ปกครองหรือผู้ที่จัดการบัญชี แต่ที่น่าสนใจก็คือ เด็กสมัยนี้ฉลาดพอที่จะปลอมแปลงวันเดือนปีเกิดของตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากมีกฎหมายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็ก โดยเป็นกฎหมายที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็ต้องปฏิบัติตามเช่นกัน
2. อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป
เด็กนั้นยังมีประสบการณ์น้อย เมื่อพวกเขาได้ยินได้เห็นอะไรก็มักจะเชื่อว่ามันแบบนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรอธิบายให้ลูกฟังเสมอว่าทุกอย่างที่เห็น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่เรื่องที่เเกิดขึ้นจริงเสมอไป ทุกอย่างสามารถคัดเลือก จัดฉาก หรือโกหกหลอกลวงได้ทั้งนั้น
อย่างภาพผู้หญิงสวย ๆ ที่เด็กพบเห็นก็ต้องอธิบายว่ามันมีตั้งแต่การเลือกนางแบบ มีมุมกล้อง มีการจัดแสง การตัดแต่งรูปภาพ มีแอปฯ ช่วย อื่น ๆ อีกสารพัด เพื่อลดปัญหาเด็กเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ บนโลกออนไลน์ หรือกังวลกับความงามตนเองแล้วด้อยค่าตัวเองจนขาดความมั่นใจ หรือการเลียนแบบความงามแบบผิด ๆ ใช้วิธีที่อันตราย หรือการเห็นคนอื่น ๆ มีข้าวของแพง ๆ ใช้แล้วอยากมีบ้าง ก็พยายามแบบผิด ๆ เพื่อให้มีตาม
นอกจากนี้ เด็กยังเป็นเหยื่อชั้นดีของแก๊งมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกเด็กให้ทำเรื่องไม่ดี การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การก่ออาชญากรรมทางเพศ หรือหลอกเอาตัวตนที่พวกเขาเปิดเผยไปใช้ในทางมิชอบ เพราะเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับมิจฉาชีพที่จะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อขโมยตัวตนของเด็ก หรือการที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบโพสต์เรื่องราวและรูปภาพของลูกก็อันตรายต่อเด็กเช่นกัน การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกบนสื่อออนไลน์ อาจทำให้เด็กถูกค้นเจอโดยมิจฉาชีพ นำมาสู่การหลอกลวง ลักพาตัว และอื่น ๆ ได้มากมาย
3. ควบคุมระยะเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กเล็ก ไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง
เด็กเล็ก ๆ เป็นวัยที่มีพัฒนาการการเติบโตสูง พวกเขาควรใช้ชีวิตด้วยการออกไปวิ่งเล่น เข้าสังคมกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน ซึ่งการที่เด็กติดโซเชียลมีเดีย นั่งเล่นนั่งดูทั้งวันก็ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย อาจทำให้เด็กป่วยบ่อย ร่างกายไม่แข็งแรง นอนหลับยาก สมาธิสั้น ผลต่อพัฒนาการทางจิตใจ เด็กสับสนกับสังคมโลกเสมือนจนแยกไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ลุ่มหลงในโลกจอมปลอม ผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ อารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด รอคอยไม่เป็น ผลต่อพัฒนาการทางสังคม เข้ากับใครไม่ได้ แอนตี้สังคม ขาดมนุษยสัมพันธ์ และผลกระทบต่อการเรียน
เด็กควรมีพัฒนาการต่าง ๆ ไปตามวัยแบบที่พวกเขาควรจะได้รับ แต่ถ้าเด็กหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นโซเชียลมีเดีย เวลาที่เด็กหมดไปกับโซเชียลมีเดีย ยิ่งมากเท่าไรก็สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจของเด็กเพิ่มขึ้นด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรจำกัดระยะเวลาการใช้โซเชียลมีเดียของบุตรหลาน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยอาจใช้วิธีพูดคุย ตกลงทำความเข้าใจ การตั้งค่าในสมาร์ทโฟนของบุตรหลาน หรือจะมีกฎของบ้านที่ชัดเจน ทุกคนต้องปฏิบัติตามก็ดีเหมือนกัน
4. สร้างกฎการใช้โทรศัพท์มือถือ แบบที่ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติตาม ไม่มีข้อยกเว้น
เด็กเรียนรู้และเลียนแบบจากตัวอย่างที่เห็น หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเป็นตัวอย่างที่ให้กับเด็กได้ ก็มีแนวโน้มว่าเด็กจะปฏิบัติตาม ยิ่งถ้าสามารถสร้างกฎของครอบครัวที่เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ทุกคนในครอบครัวต้องปฏิบัติตาม เช่น ห้ามใช้โทรศัพท์ระหว่างกินข้าว ห้ามนำโทรศัทพ์มือถือมาวางที่โต๊ะอาหาร หากทุกคนในบ้านเคารพกฎ ปฏิบัติตามกฎเป็นอย่างดี ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้นอะไรเป็นพิเศษ มันก็จะทำให้ผู้ใหญ่พูดคุยกับเด็กได้ง่ายขึ้น พวกเขาจะไม่มีคำอ้างว่า “ทีพ่อแม่ยัง…เลย”
5. ใส่ใจและสังเกตเด็กหลังจากการเล่นโซเชียลมีเดียเสมอ
ผู้ใหญ่อาจใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็ก หรือจะเรียกมาคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเลยก็ได้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการเล่นโซเชียลมีเดีย มีความรู้สึกแย่บ้างไหม ถ้ามีคือเรื่องอะไร พบเจอคนแปลก ๆ ไม่ชอบมาพากลบ้างไหมในขณะที่เล่น หรือเข้าไปดูอะไรมาบ้าง แล้วเด็กเลียนแบบพฤติกรรมแปลก ๆ มาหรือเปล่า ควรดูด้วยว่าบุตรหลานของตัวเองติดตามใครบ้าง ลองถามพวกเขาดูว่าคนที่พวกเขาติดตามทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร ถ้าเด็กมีปัญหา มีความรู้สึกแย่ ๆ หรือไปติดพฤติกรรมไม่ดีมาจากบัญชีไหน ก็ให้เลิกติดตามบัญชีนั้น ๆ
6. สอนวิธีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัยให้กับเด็ก
เพราะไม่มีทางที่ผู้ปกครองจะห้ามเด็กใช้โซเชียลมีเดียได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา เด็กเองก็อยากมีอิสระและทำอะไรตามลำพัง การเข้มงวดแบบผิดวิธีอาจทำให้เด็กเก็บกดจนเตลิด ฉะนั้น จึงควรสอนให้เด็ก “รู้เท่าทันการใช้โซเชียลมีเดีย” สอนพวกเขา “ใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย” เช่น เปิดการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว (ที่เป็นไปได้ทั้งหมด) เน้นย้ำเรื่องการโพสต์หรือแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวลงบนโซเชียลมีเดีย อย่าเชื่ออะไรใครง่าย ๆ แม้จะเป็นคนรู้จัก และควรบอกผู้ใหญ่หากมีการติดต่อกับคนที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว เป็นต้น
ที่มา:
ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting
ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ
Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFeFacebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ
Inventor Basic
หลักสูตรนี้จะสอนกี่ยวการใช้โปรแกรม Autodesk Inventor เบื้องต้น ซึ่งจะเน้นการใช้โปรแกรมใ...
หลักสูตรการใช้คำสั่ง SQL เบื้องต้น และนำเสนอข้อมูลด้วย SSRS (Microsoft Report Service Server)
SQL Server Reporting Services (SSRS) เป็น Technology หนึ่งของ Microsoft SQL Server Serv...
Basic Angular พื้นฐาน
Angular เป็นหนึ่งใน front end framework ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงตัวหน...
HTML5 and CSS3 with Bootstrap Framework
หลักสูตร Understand Bootstrap Framework จะอธิบายเนื้อหาในเว็บไซต์ https://getbootstrap....
Laravel 4 framework
คอร์ส Laravel แบบเจาะลึก จะเจาะลึกการใช้งาน Laravel PHP Framework ที่มาแรงที่สุดในตอนนี...
คำค้นหา : โทรศัพท์มือถือโซเชียลมีเดียบัญชีโซเชียลโลกออนไลน์แก๊งมิจฉาชีพการค้ามนุษย์การก่ออาชญากรรมทางเพศการใช้แรงงานเด็กมิจฉาชีพการใช้โทรศัพท์มือถือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสื่อโซเชียลมีเดีย