Digital Economy

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

ซีรีส์เศรษฐกิจดิจิทัลตอนนี้เป็นเรื่องของ “ผู้ประกอบการ” ครับ

ในแวดวงผู้ประกอบการด้านไอทีที่เป็นบริษัทคนไทย เราสามารถแบ่งผู้ประกอบการได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่รับทำซอฟต์แวร์หรือโซลูชันไอทีให้ลูกค้าเป็นรายๆ ไป กับกลุ่มที่สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการของตัวเอง

บริษัทกลุ่มแรกมีจำนวนเยอะกว่า ทำเงินได้มากกว่า เพราะเป็นการทำงานกับลูกค้าเฉพาะราย ทำโซลูชันให้ลูกค้าแต่ละหน่วยงาน ถ้าลูกค้ารายใหญ่มากๆ เช่น ธนาคาร หน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มูลค่างานก็อาจสูงเป็นหลักร้อยหรือพันล้านบาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม งานซอฟต์แวร์ลักษณะนี้มีข้อจำกัดที่สำคัญคือมันเป็นงานเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย เราไม่สามารถนำโซลูชันที่ทำให้องค์กรหนึ่ง ไปขายให้กับองค์กรที่สองได้ง่ายนัก (อาจพอทำได้บ้างแต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนกันเยอะ)

ในทางกลับกัน ถ้าเรามองดูตัวอย่างของบริษัทไอทีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ กูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊ก ออราเคิล ไอบีเอ็ม ฯลฯ สินค้าหรือบริการของบริษัทเหล่านี้สามารถ “ผลิตซ้ำ” เพื่อขายให้กับองค์กรหลายแห่งได้ง่ายๆ เลย

รูปแบบของบริษัทกลุ่มที่สองจึงเน้นสร้างผลิตภัณฑ์ (product) ที่สามารถขายหรือให้บริการกับลูกค้าในตลาดกว้างกว่า คำว่าตลาดกว้างในที่นี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้ทั่วไป แต่ยังหมายถึงการเจาะลูกค้าเป็นรายอุตสาหกรรมได้ เช่น ถ้าผมทำซอฟต์แวร์สำหรับบริหารสายการบิน ผมอาจนำซอฟต์แวร์นี้ขายให้กับสายการบิน 20 ราย โดยไม่ต้องปรับแต่งมากนัก

ในระยะยาวแล้วมูลค่าที่เกิดขึ้นจากบริษัทลักษณะนี้ย่อมมากกว่าบริษัทกลุ่มแรก เพราะลงทุนทีเดียว สามารถขยายผลได้หลายเท่า แต่แน่นอนว่าในมุมกลับกัน การสร้างบริษัทแบบที่สองนั้นยากกว่าบริษัทแบบแรกมาก

เหตุผลเพราะการสร้างสินค้ามาเจาะตลาดกว้าง ย่อมต้องเจอ “คู่แข่ง” ร่วมวงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเอาชนะคู่แข่งจึงขึ้นกับว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราเจ๋งแค่ไหน ซึ่งก็เป็นผลว่าบริษัทของเรานั้นลงทุนกับ “นวัตกรรม” มากน้อยแค่ไหน (ผมไม่ได้บอกว่าบริษัทกลุ่มแรกไม่มีนวัตกรรมนะครับ แต่หมายถึงนวัตกรรมเฉพาะตัวหรือ originality ที่ไม่ซ้ำใคร คิดเองทำเองทั้งหมด เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง)

การจะสร้าง “เศรษฐกิจดิจิทัล” ให้สำเร็จในไทย เราจึงต้องส่งเสริมให้เกิดบริษัทที่เน้นสร้างผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัลมากขึ้น

คำว่า “มากขึ้น” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายแค่จำนวน แต่คุณภาพและความสามารถในการแข่งขันต้องมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันตลาดไอทีเริ่มเปลี่ยนตัวจากซอฟต์แวร์แบบดาวน์โหลดมาเป็นบริการออนไลน์แทน ส่งผลให้ตัวเลือกของลูกค้าในไทยไม่ถูกจำกัดเฉพาะบริษัทสัญชาติไทยอีกต่อไป แต่เป็นบริษัทอะไรก็ได้ที่มีผลิตภัณฑ์ดีที่สุดในโลก

ในอดีต บริษัทไทยที่อยากมีระบบอีเมลของตัวเอง มักต้องซื้อระบบอีเมลจากบริษัทซอฟต์แวร์ในไทย แต่มาถึงวันนี้ การเช่าใช้ระบบอีเมลจากกูเกิลหรือไมโครซอฟท์อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแล้ว ระบบเสถียรกว่า มีความสามารถมากกว่า และเผลอๆ อาจมีราคาถูกกว่าด้วยซ้ำ (เพราะบริษัทให้บริการทั้งโลก ต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่าบริษัทไทย)

การบ้านของผู้ประกอบการไอทีไทยที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง จึงยากขึ้นหลายเท่า

แต่โอกาสทางธุรกิจมีอยู่เสมอ

ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นบริษัทไทยหน้าใหม่ๆ หรือที่เรียกกันว่า startup เกิดขึ้นมาหลายราย บริษัทเหล่านี้อาศัยช่องว่างทางธุรกิจที่บริษัทระดับโลกยังเข้ามาไม่ถึง สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่โดนใจลูกค้าชาวไทย จนสร้างมูลค่าทางธุรกิจและเริ่มขยายตัวสู่อาเซียน

ตัวอย่างบริษัทรุ่นนี้ ได้แก่ ร้านอีบุ๊ก Ookbee, ซอฟต์แวร์บริหารการก่อสร้าง Builk, แอพรีวิวร้านอาหาร Wongnai เป็นต้น

จริงๆ เมืองไทยยังมีบริษัทลักษณะนี้อีกหลายราย แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักของคอลัมน์ตอนนี้ ผมจะขอเขียนถึงในโอกาสต่อๆ ไปแทนนะครับ

ประเด็นของผมคือทำอย่างไรเราจึงจะสนับสนุนและผลักดันให้บริษัท startup เหล่านี้เติบโต หรือเพิ่มจำนวนขึ้นได้บ้าง?

คำตอบกลับไปที่แนวคิดที่ผมนำเสนอตลอดซีรีส์นี้ นั่นคือ รัฐไม่ต้องลงไปยุ่งมาก ปล่อยให้ภาคเอกชนเติบโต แต่รัฐต้องทำลายอุปสรรคที่ขวางกั้นไม่ให้ภาคเอกชนเติบโตเสียก่อน

ตัวอย่างง่ายๆ คือ “ทุน” การประกอบธุรกิจใดๆ ย่อมต้องใช้ทุน แต่ด้วยระบบการเงินการธนาคารในปัจจุบัน การกู้เงินธนาคารเพื่อนำไปประกอบธุรกิจด้านซอฟต์แวร์แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะระบบธนาคารถือว่าบริษัทซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ (มีแค่โน้ตบุ๊กหนึ่งตัว) ไม่มีเครดิตพอที่จะให้กู้เงิน

ทางออกของ startup จึงเหลือแค่การขายหุ้นให้นักลงทุนพวก venture capital ที่ลงทุนในบริษัทไฮเทค แต่บ้านเราก็ยังมีกฎเกณฑ์ด้านการถือหุ้นอีกหลายอย่างที่ขวางกั้นไม่ให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ง่ายนัก ผลสุดท้ายกลายเป็นว่าผู้ประกอบการไทยต้องไปเปิดอีกบริษัทที่สิงคโปร์เพื่อรับเงินจากนักลงทุนแทน

กฎเกณฑ์ยิบย่อยลักษณะนี้ยังเป็นกำแพงขวางกั้นความสำเร็จของบริษัทไอทีในไทยครับ ทางแก้คงไม่มีอย่างอื่นนอกจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ต้องลงมาคุยกับผู้ประกอบการว่าต้องการอะไร ต้องการให้ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์อะไรบ้าง

ถ้าหน่วยงานภาครัฐไทยจริงใจกับปัญหานี้ก็ต้องรีบแก้ไขครับ ไม่งั้นภาพฝัน “เศรษฐกิจดิจิทัล” จะลงเอยด้วยว่าบริษัทเจ๋งๆ ของไทย หนีไปจดทะเบียนในสิงคโปร์กันซะหมดแทน

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: thairath.co.th

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 2,971 ครั้ง

คำค้นหา : Digital Economyเศรษฐกิจดิจิทัลซอฟต์แวร์