คอนเสิร์ตออนไลน์ การปรับตัวและการเอาตัวรอดของกลุ่มคนดนตรี
“คอนเสิร์ตออนไลน์” เริ่มแพร่หลายอย่างมากในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดไม่หยุด ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่าโรคระบาดนี้มาพร้อมกับผลกระทบและความเสียหายในด้านต่าง ๆ ผู้คนจากทุกแวดวงเดือดร้อนกันถ้วนหน้า คนดนตรีก็เช่นกัน พวกเขาไม่สามารถทำงานได้อย่างที่เคยทำ คอนเสิร์ตหรืองานแสดงดนตรีต่าง ๆ จัดไม่ได้ ทำให้ต้องหาวิธีการแก้ปัญหา หรือทางออกเฉพาะหน้าในช่วงเวลาแบบนี้
เพราะการไม่มีคอนเสิร์ต ไม่มีการแสดงหรืออีเวนต์ทางดนตรี ก็ไม่มีรายได้เข้า การที่ไม่มีรายได้เลยเป็นเวลาแรมปี เริ่มทำให้คนกลุ่มอาชีพดนตรีเริ่มอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้บรรดาแฟนคลับที่คิดถึงศิลปินที่ตัวเองรักก็ต้องการการปลอบประโลมใจให้ดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งศิลปินและดนตรีก็สามารถใช้เยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดี จุดนี้นี่เองที่ทำให้คนในแวดวงดนตรีต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ตนเองอยู่รอด
คอนเสิร์ตออนไลน์ การปรับตัว ทางออก และการเอาตัวรอดของกลุ่มอาชีพที่หวังพึ่งคอนเสิร์ต
จริง ๆ แล้ว หลายคนมองว่าคอนเสิร์ตออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดในช่วงที่มีโรคระบาด เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มคนในธุรกิจดนตรีก็มีการไลฟ์สดตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเวลาที่ตนเองจัดการแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ชมจากทางบ้านที่ไม่มีโอกาสได้ไปตามสถานที่นั้น ๆ สามารถเข้าไปร่วมชมร่วมสนุก เสมือนได้ไปในสถานที่นั้น ๆ เอง ทว่าคอนเสิร์ตออนไลน์ในปัจจุบันรูปแบบจะต่างกันนิดหน่อย ตรงที่ในสตูดิโอจะไม่มีผู้ชมอยู่เลย มีเพียงศิลปิน ทีมงาน และอุปกรณ์ที่ใช้สตรีมสดให้ผู้ชมที่อยู่ทางบ้านแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ได้ชม
ในขณะที่ผู้ชมที่อยู่ทางไกลก็จะรับชมคอนเสิร์ตผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ อาจเป็นโซเชียลมีเดียเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเป็นกลุ่มปิด หรืออาจเป็นแพลตฟอร์มเฉพาะของตัวเอง เช่น V Live, Zoom เป็นต้น ผู้ชมจะเข้าไปชมได้ ต้องจ่ายเงินคล้ายกับการซื้อบัตรคอนเสิร์ต แต่จริง ๆ คือการซื้อรหัสเพื่อเข้ากลุ่มปิดหรือเข้าระบบนั่นเอง
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักจนภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรค ธุรกิจดนตรี เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะการจัดการแสดง อีเวนต์ งานมีตติ้ง หรือแม้กระทั่งคอนเสิร์ตไม่สามารถจัดได้ เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ งานกิจกรรมต่าง ๆ ของธุรกิจดนตรีเป็นอันต้องพักยาว งานแสดงตามร้านอาหารหรือสถานบันเทิงต้องยกเลิกหมดเพราะร้านถูกสั่งปิด (เป็นลำดับแรก ๆ) บางคอนเสิร์ตที่มีแผนแล้วก็ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก หลังจากที่สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ กิจการ กิจกรรมอื่น ๆ กลับมาเปิดมาจัดได้ แต่คนกลุ่มนี้ยังทำไม่ได้
ทว่ากิจกรรมทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือวิธีในการหาเงินของคนในธุรกิจดนตรี ในเมื่อพวกเขาจัดการแสดงไม่ได้ จัดคอนเสิร์ตในที่ที่เคยจัดไม่ได้ จำหน่ายบัตรเพื่อให้คนเข้าคอนเสิร์ตไม่ได้ พวกเขาก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ก็จำเป็นต้องปรับตัว หาทางออก เพื่อพาตัวเองรอดจากวิกฤติที่ไม่มีงาน ไม่มีเงินนี้ การจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบออนไลน์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในช่วงเวลาแบบนี้ เพื่อไม่ให้รายได้จากส่วนนี้หายไปกลายเป็นศูนย์ ยังพอขายได้บ้างก็ดีกว่าไม่ได้เลย ที่สำคัญ คือเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะทำให้ศิลปินและแฟนคลับได้เจอกันบ้าง
คอนเสิร์ตออนไลน์จึงเป็นเพียงทางออกในช่วงสั้น ๆ ที่บรรดาศิลปินและคนในธุรกิจดนตรีใช้เป็นทางออก ในเมื่อพวกเขาไม่สามารถมีรายได้จากกิจกรรมด้านดนตรีที่พวกเขาเคยจัด หลาย ๆ ค่ายเพลงจึงต้องหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อพยุงให้ธุรกิจยังอยู่ได้ ในขณะที่บรรดาแฟนคลับก็ได้มีช่วงเวลาพักผ่อนหย่อยใจ คลายเครียด เพราะห่างหายอีเวนต์ความบันเทิงแบบนี้มานานมากแล้ว อีกทั้งก็ไม่ได้เจอหน้าศิลปินที่รักมานานแล้วเหมือนกัน นี่จึงเป็นโอกาสที่จะได้เจอศิลปินที่รัก ไม่เห็นตัวเป็น ๆ เห็นกันผ่านจอก็ยังดี การตัดสินใจซื้อบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์จึงง่ายขึ้นมาก
อันที่จริง การดูคอนเสิร์ตแบบนี้มันก็ดูสะดวกสบายดีเหมือนกัน ตอบโจทย์ในช่วงระยะเวลาสั้นที่คนกำลังโหยหาอีเวนต์ความบันเทิง ทว่าถ้าถามบรรดาผู้ชมทั้งหลายว่าระหว่างคอนเสิร์ตแบบเดิมกับคอนเสิร์ตออนไลน์ ชอบคอนเสิร์ตแบบไหนมากกว่ากัน บอกเลยว่าคอนเสิร์ตออนไลน์ไม่มีทางที่จะแทนที่คอนเสิร์ตในรูปแบบดั้งเดิมได้อย่างแน่นอน เพราะ “คอนเสิร์ต” ไม่ใช่กิจกรรมที่เหมาะกับการดูคนเดียว อีกทั้งเสน่ห์ของการดูคอนเสิร์ตคือความสดของโชว์ และการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในช่วงเวลาประวัติศาสตร์นั้นจริง ๆ ร่วมกับคนจำนวนมากในฮอลล์ต่างหาก
คนที่ตั้งใจว่าจะไปคอนเสิร์ต เขามีความคาดหวังเช่นนั้นอย่างเต็มเปี่ยม แม้ว่าบางคงอาจจะไม่ได้มีกำลังซื้อบัตรแถวหน้า ต้องอยู่แถวหลังสุด หรือต้องขึ้นไปอยู่บนดอย เห็นศิลปินตัวเท่ามดก็ยอม นี่แหละประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหน ขนาดว่าศิลปินจัดงานแสดงหลายรอบ แต่ละรอบการแสดงเหมือนเดิม แต่อรรถรสในการดูไม่เหมือนเดิม
ส่วนในมุมของผู้จัดคอนเสิร์ต ที่ต้องยอมมาจัดแบบออนไลน์ก็เพราะว่าการจัดคอนเสิร์ตแบบเดิมมันทำไม่ได้ หรือถ้าคลายล็อกแล้วก็ยังต้องเว้นระยะห่างระหว่าง จากที่ฮอลล์หนึ่งสามารถบรรจุผู้ชมได้หลักหมื่นคน ก็เหลือแค่หลักพันคน บัตรเข้าชมที่เคยขายได้เต็มอัตราก็เหลือแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และขายได้เฉพาะตั๋วแบบนั่งเท่านั้น ในขณะที่ต้นทุนในการจัดมีเท่าเดิม แต่รายได้ลดลง มันก็ดูไม่ค่อยคุ้มที่จะจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบเดิม ดังนั้น เปิดคอนเสิร์ตออนไลน์ดีกว่า รับผู้ชมได้ไม่จำกัด เพราะคนดูคอนเสิร์ตได้จากที่บ้านตัวเอง
ลูกเล่นในคอนเสิร์ตออนไลน์ที่ทันสมัย
แม้ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในสตูดิโอ แล้วถ่ายทอดโดยการสตรีมสดผ่านออนไลน์ แต่จะมาทำเวทีเล็ก ๆ แบบเวทีโปรโมตในรายการโทรทัศน์นั้นไม่ได้ เนื่องจากต้องพยายามดึงดูดผู้ชมกลุ่มใหม่ให้เข้ามาชม หากผู้ชมกลุ่มนี้ประทับใจ ก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนต่อและกลายเป็นแฟนคลับได้ในอนาคต และที่สำคัญ คือการทำให้กลุ่มแฟนคลับเดิมรู้สึกประทับใจกับคอนเสิร์ตครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ชมที่เป็นกลุ่มแฟนคลับ พวกเขาไม่เกี่ยงหรอกว่าศิลปินของตนเองจะจัดคอนเสิร์ตในฮอลล์หรือจัดคอนเสิร์ตบนออนไลน์ พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและอยู่ในสถานะที่ “พร้อมจ่าย” เพื่อสนับสนุนศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบอย่างเต็มที่ การทำให้แฟนคลับประทับใจจึงเป็นหน้าที่หลักของศิลปินที่ต้องตอบแทนความรัก ความเชื่อใจ และการสนับสนุนของเหล่าแฟนคลับ ที่ยังคงอยู่เคียงข้างกันแม้จะเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายไม่ต่างกัน
หากมองในเชิงธุรกิจ ศิลปินจะยืนอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีแฟนคลับคอยสนับสนุน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันเป็นหน้าที่ผูกพันที่ศิลปินจะทิ้งแฟนคลับไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับดับอนาคตของตนเองในวงการ แต่ในทางกลับกัน แฟนคลับสามารถทื้งศิลปินได้ หากศิลปินทำให้แฟนคลับไม่พอใจ จนพวกเขาไม่ต้องการที่จะสนับสนุนต่อ “ศิลปินที่ไม่มีใครยอมซื้อบัตรเข้ามาดูจะอยู่ได้อย่างไร” นี่น่าจะเห็นภาพชัดเจนที่สุดว่าทำไมศิลปินต้องแคร์แฟนคลับให้มาก
ดังนั้น คอนเสิร์ตออนไลน์หลาย ๆ คอนเสิร์ตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นศิลปินไทยหรือศิลปินต่างชาติ เราจะเห็นว่าเวทีของพวกเขายิ่งใหญ่อลังการไม่ต่างจากคอนเสิร์ตที่จัดในฮอลล์ แสง สี เสียงจัดเต็ม แบบที่ว่าข้อจำกัดในการดูผ่านหน้าจอก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเสพความบันเทิงแต่ประการใด ทุกอย่างถูกจัดขึ้นเสมือนจริง เหมือนศิลปินและผู้ชมได้เจอกันจริง ๆ ในฮอลล์ที่ไหนสักแห่ง
เช่น มีการจ่ายเงินเพื่อซื้อบัตร (รหัส) เพื่อเข้าชมคอนเสิร์ต มีการจ่ายเงินเพื่อซื้อของสนับสนุนศิลปินบนเวที เช่น คอนเสิร์ตหมอลำก็เป็นการกดซื้อมาลัย (ทิพย์) เพื่อมอบให้ศิลปิน ส่วนคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลี ก็จ่ายเงินเพื่อให้ได้กดโบกแท่งไฟ (ทิพย์) ที่มุมจอ ผู้คนยอมจ่ายเงินจริงเพื่อให้ได้ของทิพย์ โดยมิอาจได้สัมผัสมาลัยนั้นทั้งคนให้และคนรับ ส่วนแท่งไฟก็จิ้ม ๆ จนนิ้วแทบล็อก
อนาคตของคอนเสิร์ตออนไลน์หลังจากหมดโรคระบาด
ด้วยความที่คอนเสิร์ตออนไลน์ที่จัดขึ้นทุกวันนี้ เป็นเพียงแนวทางการปรับตัวและทางออกในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตจริงได้ ด้วยข้อจำกัดตามมาตรการป้องกันโรค อีกทั้งคอนเสิร์ตออนไลน์อาจทำรายได้ได้น้อยกว่าการจัดคอนเสิร์ตแบบปกติทั่วไป มันจึงเป็นรูปแบบคอนเสิร์ตที่จะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น คือต่อให้โลกยุคใหม่จะนำเอาทุกอย่างเข้าไปอยู่บนช่องทางออนไลน์ได้หมดแล้วก็ตาม เพราะนิยามของคอนเสิร์ตคือ “การแสดงดนตรีต่อหน้าผู้ชม โดยกำหนดรายการแสดงที่แน่นอน มักมีผู้แสดงหลายคน”
อีกเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้คอนเสิร์ตหรือการแสดงดนตรีไม่อาจอยู่บนช่องทางออนไลน์ได้อย่างถาวร ก็เพราะว่าความสนุกของคอนเสิร์ต คือความสนุกแบบสด ๆ ที่เห็นได้จากตาในช่วงเวลานั้น ๆ และการได้อยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ที่ชื่นชอบศิลปินคนเดียวกันมากกว่าการนั่งดูผ่านหน้าจอคนเดียวในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ความอินและความฟินมันไม่เท่ากัน ที่คนยอมดูคอนเสิร์ตออนไลน์ก็เพราะเข้าใจว่าสถานการณ์มันเป็นอย่างไร หากสถานการณ์ดีขึ้น จนสามารถจัดคอนเสิร์ตในฮอลล์ได้ เรียกคนเข้าไปรวมกลุ่มในสถานที่เดียวกันได้ ใครจะอยากนั่งดูคอนเสิร์ตผ่านหน้าจอคนเดียวล่ะ?
จุดนี้เองเป็นปัจจัยหลัก ที่จะทำให้คนทั่วไปตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตไม่ว่าจะต้องจ่ายแพงแค่ไหนก็ตาม คือ การที่ได้เข้าไปอยู่ในสถานที่เดียวกันกับศิลปิน (ที่ตัวเองรัก) ตัวเป็น ๆ ตัวจริงเสียงจริง ไม่มีหน้าจอกั้น ได้อยู่ท่ามกลางคนที่มีความชอบเหมือน ๆ กันอีกหลายร้อยหลายพันคน ร้องเล่นเต้นรำไปด้วยกัน รวมถึงบรรยากาศอื่น ๆ ที่สามารถสัมผัสได้จริง ๆ ในคอนเสิร์ตเท่านั้น มีหลายสิ่งอย่างที่คอนเสิร์ตออนไลน์ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าช่องทางที่สตรีมคอนเสิร์ตจะมีลูกเล่นพิเศษทันสมัยแค่ไหน ผู้ชมก็ต้องรับชมผ่านหน้าจออุปกรณ์ของตัวเองอยู่ดี
ดังนั้น หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ การจัดคอนเสิร์ตก็อาจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ก็อาจจะทำควบคู่ไปกับคอนเสิร์ตออนไลน์บ้างเป็นครั้งคราว แบบที่มากกว่าตอนที่ยังไม่มีโรคระบาด เพราะมีเทคโนโลยีล้ำสมัยมาสนับสนุนการสร้างบรรยากาศการชมคอนเสิร์ตผ่านโลกเสมือนด้วย อย่างไรก็ดี คอนเสิร์ตออนไลน์จะเป็นเพียงเพียงหนึ่งในทางเลือกที่รองลงมาเท่านั้น ในท้ายที่สุด การไปชมโชว์สด ๆ ของศิลปินที่ชอบในฮอลล์ร่วมกับเพื่อนคอเดียวกัน ก็เป็นอรรถรสและความสนุกที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะต้องจ่ายเงินกี่พันกี่หมื่น หรือต้องแย่งกันจองบัตรก็ตาม
ที่มา:
ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting
ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ
Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFeFacebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ
Autodesk Maya 2014 Basic
โปรแกรม Maya เป็นโปรแกรมสร้างภาพ 3 มิติ และงาน 3D Animation ที่มีผลงานระดับโลกมากมายหลา...
Advanced iOS Development
หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานการพัฒนาโปรแกรมบน iOS แล้วต้องการศึกษา เพิ่มเติมใน...
Microsoft SQL Server 2012 T-SQL Fundamentals
คอร์สสอนการใช้ภาษา SQL ในการถึงข้อมูลจาก database เป็นหลักสูตรที่เน้นการคิวรีข้อมูลจากฐ...
Basic Visual Studio 2010 Professional
In Visual Studio 2010 Essential Training, Instructor demonstrates how to use Visual Stu...
Developing Web Applications with Microsoft Visual Studio 2010
In this course, students will learn to develop advanced ASP.NET MVC and Web Forms appli...
คำค้นหา : คอนเสิร์ตออนไลน์กลุ่มคนดนตรีโควิด-19ธุรกิจดนตรีสตูดิโอv livezoomการล็อกดาวน์ศิลปินต่างชาติศิลปินไทยช่องทางออนไลน์