คุณไว้ใจนักพัฒนาแอพแค่ไหน?
คุณไว้ใจนักพัฒนาแอพแค่ไหน? ซึ่งการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นแต่งรูปดังกล่าวนั้นพบว่าระหว่างอัพโหลดรูปเพื่อแต่งรูปด้วยโปรแกรมในแอพพลิเคชั่น รูปถูกส่งไปเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์
เมื่อมีแอพพลิเคชั่นในมือถือที่กำลังเป็นกระแส ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือย่อมดาวน์โหลดมาใช้งานเพราะเกรงจะตกเทรนด์ตกกระแสจนลืมตั้งคำถามว่า “คุณไว้ใจนักพัฒนาแอพแค่ไหน?”
นายสิทธิพล พรรณวิไล ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท The Cheese Factory จำกัดและเปิดโรงเรียนสอนเขียนโปรแกรมสำหรับนักพัฒนามืออาชีพกล่าวถึงแอพพลิเคชั่นแต่งหน้าที่แชร์สนั่นในโลกออนไลน์ “Makeup Plus” ที่เป็นกระแสโด่งดังว่าส่วนตัวมองว่า Meitu เจ้าของแอพพลิเคชั่นของจีนรายนี้เป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่โตและน่าเชื่อถือ ซึ่งการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นแต่งรูปดังกล่าวนั้นพบว่าระหว่างอัพโหลดรูปเพื่อแต่งรูปด้วยโปรแกรมในแอพพลิเคชั่น รูปถูกส่งไปเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์
“Meitu น่าจะเอารูปที่เก็บในเซิร์ฟเวอร์ไปปรับปรุงประสิทธิภาพของการตรวจสอบหาใบหน้าหรือภาษาทางนักพัฒนาเราเรียกว่า Machine Learning เพราะดูจากผลลัพธ์การแต่งหน้าที่ได้ของแอพตัวนี้ต้องบอกว่าน่าประทับใจมากในแง่ของการพัฒนาน่าจะผ่านขั้นตอนของ Machine Learning มาเยอะพอสมควรจึงได้แอบเก็บภาพเพิ่มเพื่อไปปรับปรุงเพิ่มเติม”
นายสิทธิพลกล่าวต่อว่า เราไม่สามารถเดาได้เลยว่าแอพที่ดาวน์โหลดมาใช้งานจะเอาภาพและข้อมูลส่วนตัวของเราไปทำอะไรในเชิงดีหรือไม่ดี แต่ที่แน่ ๆ การดึงภาพขึ้นเซิร์ฟเวอร์โดยไม่บอกกล่าวเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าผิดและละเมิดสิทธิเกือบ 100% แม้จะเขียนในข้อตกลงการใช้งาน(UserAgreement) เป็นภาษาจีนว่า “บริษัทมีสิทธิจะใช้ทุกข้อมูลที่อัพโหลดขึ้นบนเซิร์ฟเวอร์ตามที่ต้องการ” เพราะใช่ว่าใครทุกคนจะอ่านออกสำหรับบรรทัดฐานของประเทศจีนเรื่องดึงรูปไปเก็บอาจเป็นเรื่องปกติ แต่พอออกมาสู่ระดับโลกถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงพอสมควร
“หลายคนอาจเทียบกรณีนี้กับการอัพโหลดภาพขึ้นเฟซบุ๊กซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างกันเพราะเฟซบุ๊กเราเป็นคนอัพภาพเหล่านั้นขึ้นไปเองแต่กับแอพตัวนี้แอบอัพโหลดรูปโดยเราไม่รู้ตัวซึ่งจะเสียหายมากถ้าเผอิญมีภาพที่ไม่เหมาะไม่ควรเช่น คนถ่ายภาพโป๊ตัวเองเพื่อแต่งหน้าส่งให้แฟนดูขำ ๆ ภาพพวกนี้ก็จะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะโดยที่เจ้าของภาพไม่รู้ตัว สำหรับแอพแต่งหน้าตัวนี้เปิดให้ดาวน์โหลดผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอสจึงมีผลกับผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลดแอพไปใช้ในทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการนี้”
นายสิทธิพลกล่าวว่า นอกจากภาพแล้วข้อมูลอื่นที่ถูกดึงไปเก็บบนเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ไม่สำคัญ เช่น รหัสประจำเครื่องซึ่งจะถูกเปลี่ยนเมื่อตั้งค่าเครื่องใหม่นอกจากนี้ยังมีการดึงจีพีเอส (GPS) ด้วยแต่ไม่แน่ใจว่าเอาไปเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์หรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ส่งผลมากในแง่ของความเป็นส่วนตัว (Privacy)โดยแอพดัง ๆ ที่ใช้อยู่ทุกวัน เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล อินสตาแกรม และไลน์ มีการเก็บข้อมูลพวกนี้ตลอดเวลาโดยเราไม่รู้ตัวเพียงแต่เราไม่เดือดร้อน ส่วนพวกข้อมูลสำคัญ เช่น CallLog, ข้อมูลการเข้าเว็บ, อีเมล, เบอร์โทรฯ และพาสเวิร์ดเฟซบุ๊ก นายสิทธิพลอธิบายว่ามีการตรวจสอบบ้างโดยกลุ่มนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้รายงานให้แอปเปิ้ลสโตร์และกูเกิลเพย์ปิดอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ตามไม่ทันเพราะการพัฒนาแอพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับคนที่ชอบดาวน์โหลดแอพใหม่ ๆ มาใช้งานในโทรศัพท์มือถือ นายสิทธิพลแนะนำว่า ผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เบื้องต้นต้องดูเรื่องของการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล (Permission) ว่าแอพมีการเข้าถึงอะไรบ้างและมีอะไรแปลก ๆ หรือไม่ เช่นแอพแต่งภาพแต่มีการเข้าถึงข้อความสั้นหรือเอสเอ็มเอสในโทรศัพท์มือถือ หากเป็นเช่นนี้ขอให้คิดไว้ก่อนว่าไม่ปลอดภัยส่วนแอพในระบบปฏิบัติการไอโอเอสทางแอปเปิ้ลค่อนข้างเข้มงวดในการตรวจสอบทำให้โอกาสที่แอพไม่ดีจะหลุดออกมามีไม่มาก ซึ่งระบบการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในไอโอเอสจะขออนุญาตผู้ใช้ตอนที่จะเข้าถึงแต่ก็ขอเพียงครั้งเดียวหากไม่ประสงค์ดีจริง ๆ ก็สามารถขโมยได้
“วันนี้ยังไม่มีวิธีที่จะทำให้มั่นใจว่าแอพที่ดาวน์โหลดมาใช้งานปลอดภัยแน่นอนซึ่งต้องถามว่า “คุณไว้ใจนักพัฒนาคนนั้นแค่ไหน?” ถ้าเป็นนักพัฒนาฝั่งอเมริกาจะน่าเชื่อถือหน่อยเพราะมีกฎหมายรุนแรงหากมีการขโมยข้อมูล แต่ถ้าเป็นนักพัฒนาฝั่งจีนต้องพิจารณาเองว่าคุณไว้ใจนักพัฒนาคนนั้น ๆ แค่ไหนก่อนจะดาวน์โหลดแอพมาใช้งาน”
นายสิทธิพลกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการพัฒนาแอพมีทั้งดีและไม่ดี ถ้าดีก็จะเอาข้อมูลไปเพื่อวิเคราะห์ความเป็นคุณเอาไปวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ของบริษัทผู้พัฒนาแอพเช่น เฟซบุ๊กแอบเก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อวิเคราะห์ว่าคุณเป็นคนยังไงชอบอะไร จะได้ยิงโฆษณามาได้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือแม้กระทั่งกูเกิลที่เก็บทุกอย่างในชีวิตคุณ ผลที่เห็นตอนนี้คือ GoogleNow สามารถเป็นผู้ช่วยรายงานโน่นนี่ได้แต่พวกนี้ใช้ข้อมูลอย่างเป็นธรรมและเรายินยอมให้ใช้อย่างเต็มใจ ขณะที่วัตถุประสงค์ไม่ดีเช่น ขโมยภาพไปขายขโมยข้อมูลส่วนตัวไปขายหรือคอยแอบอ่านข้อมูลในโปรแกรมจดโน้ตเพื่อขโมยรหัสผ่านบัตรเครดิตหรืออีเมล หากเผลอจดไว้ในโทรศัพท์มือถืออันนี้ต้องระวังและตรวจสอบให้ดีก่อนดาวน์โหลด ปัจจุบันแอพของแอนดรอยด์และไอโอเอสมีอยู่รวมกันราวๆ 3 ล้านแอพพลิเคชั่นซึ่งมีเป็นแสน ๆ แอพที่น่าสงสัยแต่ไม่มีใครมีเวลาพอจะมานั่งตรวจสอบ ดังนั้นผู้ใช้งานต้องตรวจตราให้ดีกันเองก่อนดาวน์โหลด
นายสิทธิพลกล่าวว่า วันนี้เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลถูกดึงขึ้นคลาวด์เพื่อเอาไปใช้ทำประโยชน์ ดังนั้นส่วนตัวยินดีอย่างยิ่งที่ข้อมูลจะขึ้นไปอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ในอินเทอร์เน็ตเพียงแต่ต้องมีสติและตระหนักตลอดเวลาว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกเอาไปทำอะไรและปลอดภัยแค่ไหนยกตัวอย่าง ไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ใส่ไว้ใน Dropbox ซึ่งอยู่บน ServerFarm ที่เดียวกันแต่ต่างคนไม่สามารถเข้าถึงกันได้ซึ่งเชื่อใจว่า Dropbox เก่งพอที่จะไม่ทำให้เกิดช่องโหว่นั้นเลยยอมเอาเอกสารสำคัญ ๆ ขึ้นไปเก็บไว้ ส่วนเฟซบุ๊กส่วนตัวยินยอมเพราะรู้ว่าให้ข้อมูลอะไรไปบ้างและเก็บรักษาข้อมูลไว้อย่างไร เช่นเดียวกับกูเกิลที่คอยเก็บข้อมูลการใช้งานไปตลอดผ่านบริการต่าง ๆ แต่ก็รู้ว่าเอาไปทำอะไร แบบนี้คือความไว้ใจที่หมายถึง “พวกนี้ผมไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเพราะก่อนจะใช้บริการเราต้องกดยอมรับข้อตกลงการใช้งาน (AcceptUser Agreement) ก่อนแต่กับแอพที่แอบดึงข้อมูลเราไปเก็บหรือหลอกลวงเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้อันนี้ละเมิดสิทธิเต็ม ๆ แต่คงเอาผิดยาก ดังนั้นต้องใช้บริการต่าง ๆ อย่างมีสติ”
ล่าสุดบริษัท Meitu ผู้สร้างแอพแต่งหน้า MakeupPlus ออกมายอมรับว่ามีการอัพโหลดภาพของผู้ใช้งานเข้าเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทจริงเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาระบบจดจำใบหน้าและจับตำแหน่งใบหน้า พร้อมขอโทษผู้ใช้งานที่ไม่แจ้งเตือนให้ชัดเจน ซึ่งวันที่ 8 ก.ย. 58 มียอดดาวน์โหลดใช้งานแล้ว 1 ล้านดาวน์โหลด จากนี้จะดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือต้องตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะกดยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัว.
ที่มา:
ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting
ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ
Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFeFacebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
คำค้นหา : แอพพลิเคชั่นแต่งหน้าที่แชร์สนั่นในโลกออนไลน์ “Makeup Plus”Meitu เจ้าของแอพพลิเคชั่นของจีนรายนี้เป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่โตและน่าเชื่อถือ ในแง่ของการพัฒนาน่าจะผ่านขั้นตอนของ Machine Learningแอพที่ดาวน์โหลดมาอาจจะเอาภาพและข้อมูลส่วนตัวของเราไปทำอะไรในเชิงดีหรือไม่ดี การดึงภาพขึ้นเซิร์ฟเวอร์โดยไม่บอกกล่าวเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าผิดและละเมิดสิทธิบริษัทมีสิทธิจะใช้ทุกข้อมูลที่อัพโหลดขึ้นบนเซิร์ฟเวอร์ตามที่ต้องการ