ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ! ทำยังไงดี ได้เงินชดเชยเท่าไหร่

ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ! ทำยังไงดี ได้เงินชดเชยเท่าไหร่

หมวดหมู่: บทความทั่วไป

  มนุษย์เงินเดือนรู้ไว้ ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว เรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่ 

 

ตกงาน
 

          การตกงานเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนไม่อยากเจอทั้งนั้น ยิ่งเป็นการตกงานแบบสายฟ้าแลบ ถูกเลิกจ้างกะทันหันด้วยแล้ว หลายคนถึงกับตั้งตัวไม่ทันเลยทีเดียว ซึ่งหากใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ควรทำอย่างแรกเลยก็คือการรักษาผลประโยชน์ที่ตัวเองควรได้รับ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น กระปุกดอทคอม มีข้อมูลมาฝาก

ถูกเลิกจ้างแบบไหน ถึงจะได้เงินชดเชย 

 

          เราจะได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างจากนายจ้าง เมื่อทำงานครบ 120 วัน เป็นอย่างน้อย และถูกให้ออกจากงานทั้งที่ไม่ได้สมัครใจ ไม่ว่านายจ้างจะแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ก็ตาม แต่มีข้อแม้ว่า เราต้องไม่ได้ทำผิด หรือถูกให้ออกจากงาน ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

 

           - ลาออกเองโดยสมัครใจ

 

           - ทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา

 

           - จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

 

           - ประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

 

           - ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว

 

           - ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร

 

           - ได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

 

           - สัญญาจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน

 

          หากถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุดังที่กล่าวมา จะไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายระบุไว้

 

 

ตกงาน


ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ได้เงินชดเชยเท่าไหร่ ?

 

          การถูกเลิกจ้างกะทันหัน ตามกฎหมายแล้วจะได้เงินชดเชย 2 อย่างจากนายจ้าง คือ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังนี้

 

          1. ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง

 

          ได้รับเมื่อถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิดใด ๆ สำหรับเงินชดเชยที่ได้จะขึ้นอยู่กับเงินเดือนและอายุงาน

 

           - ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน)

 

           - ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน (3 เดือน)

 

           - ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน)

 

           - ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน)

 

           - ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10 เดือน)

 

           - ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน

         
          ตัวอย่างเช่น นาย A ทำงานมาแล้ว 5 ปี ได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท และโดนบอกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ ดังนั้น นาย A จะได้รับเงินชดเชย 30,000 x 6 เดือน (180 วัน) เท่ากับ 180,000 บาท
 

ตกงาน
 

          2. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 

          โดนเลิกจ้างโดยไม่ได้สมัครใจ แถมยังมีเซอร์ไพรส์ไม่บอกล่วงหน้าอีกด้วย ถ้าเป็นแบบนี้เราจะได้เงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่า "ค่าตกใจ" เพิ่มเติมด้วย ตามกรณีดังต่อไปนี้

 

          - กรณีเลิกจ้างทั่วไป 

          กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง หมายความว่า ถ้าเราได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างจะต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน หรือถ้าได้รับค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ก็ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ 7 วัน
 

          ตัวอย่างเช่น บริษัทจ่ายเงินให้ลูกจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน 

          หากบริษัทบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 30 ตุลาคม ก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน หรือ 30 วัน แต่ถ้าบริษัทบอกเลิกจ้างช้ากว่ารอบการจ่ายเงิน เช่น บอกในวันที่ 6 พฤศจิกายน ก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าถึงงวดวันที่ 30 ธันวาคม 

 
          - กรณีเลิกจ้าง เพราะการปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ เนื่องมาจากนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี จนต้องลดจำนวนลูกจ้างลง    

          ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้เงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน (2 เดือน) เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ก็จะได้รับเงินชดเชย 30,000 x 2 เท่ากับ 60,000 บาท 

          อีกทั้งหากลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ 1 ปี (รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน) 

 

          - กรณีเลิกจ้าง เพราะย้ายสถานประกอบกิจการ

 

          ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้รับเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน) 

 

          หรือหากมีการบอกล่วงหน้าถูกต้อง แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ด้วย ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างที่มีสิทธิได้รับ  

 

เงินชดเชยถูกเลิกจ้าง จะได้รับตอนไหน

 

          ปกติแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน แต่หากถึงตอนนั้นแล้วยังไม่ได้เงินชดเชยดังกล่าว เราสามารถยื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากถือว่าเป็นการเข้าข่ายการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั่นเอง

 

ตกงาน
 

โดนเลิกจ้างกะทันหัน ประกันสังคมช่วยอะไรบ้าง 

 

          สำหรับใครที่มีสิทธิประกันสังคม จะได้รับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงานจากประกันสังคมอีกด้วย หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน โดยจะต้องรีบไปขึ้นทะเบียนหางาน ณ สำนักจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้าง และยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคม


          โดยเงินช่วยเหลือที่ได้รับ จะเป็นเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น เงินเดือน 10,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท หรือถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่า 15,000 บาท ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือที่อัตราสูงสุด คือ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน

 

          ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ > ประกันสังคม ช่วยได้ ถึงจะว่างงาน ก็ยังได้รับเงินเดือน 

 

ถูกเลิกจ้าง-ตกงานเพราะสถานการณ์โควิด 19 จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ?

 

          ในช่วงปี 2563 มีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือหยุดพักงานชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 จำนวนไม่น้อย ทางภาครัฐจึงให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

 

กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33

 

          ผู้ประกันตน มาตรา 33 เข้าข่ายกรณีต่อไปนี้ สามารถรับเงินชดเชยรายได้กรณีว่างงานได้

 

          1. ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
          2. ถูกเลิกจ้าง
          3. รัฐบาลสั่งปิดกิจการชั่วคราว
          4. สัมผัส ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรคระบาด ต้องกักตัวเอง 14 วันที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล
          5. นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ
          6. นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ เนื่องจากมีลูกจ้างสุ่มเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19

 

          โดยผู้ประกันตนที่ว่างงาน สามารถลงทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน ได้ที่นี่


          แต่ในกรณีที่หยุดงานเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ/นายจ้างสั่งปิดกิจการชั่วคราว หรือหยุดเนื่องจากต้องกักตัวอันเกิดจากโรคระบาด จะต้องให้นายจ้าง/ผู้ประกอบการเข้ามากรอกข้อมูลยืนยันความถูกต้องว่า ได้มีการสั่งปิดกิจการ หรือเราได้หยุดกักตัวจริง ๆ โดยนายจ้างกรอกข้อมูลได้ที่ แบบฟอร์มรองรับการหยุดงานของลูกจ้าง อันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย 
 

          จำนวนเงินชดเชยที่จะได้รับจากกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย (โควิด 19) มีผลตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี

   

         กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย

          - นายจ้างไม่ให้ทำงาน หรือต้องกักตัว 14 วัน รับเงินกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน
          - หน่วยงานภาครัฐสั่งหยุดกิจการชั่วคราว รับเงินกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 60 วัน

 

         กรณีว่างงานเพราะลาออก หรือถูกเลิกจ้าง

          - ว่างงานจากการลาออก รับเงินกรณีว่างงาน 45% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

          - ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงาน 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน

 

กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40

 

           ไม่ได้รับเงินทดแทนรายได้กรณีว่างงานจากประกันสังคม แต่สามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังได้ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยหากผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจะได้รับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท (เมษายน-มิถุนายน 2563)

 

กรณีเป็นลูกจ้างชั่วคราว แรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม หรือประกอบอาชีพอิสระ

 

          หากได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น นายจ้างเลิกจ้าง ปิดกิจการ สามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังได้ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้เช่นกัน

 

          สำหรับใครที่เจอเหตุการณ์ตกงานไม่ทันตั้งตัวแบบนี้ สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือ การมีสติและอย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ 

 

*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กระทรวงแรงงาน, ประกันสังคม

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Nong-beam
เข้าชม 2,077 ครั้ง

คำค้นหา : ตกงานการประกันตนเงินเดือนเงินประกันลูกจ้างนายจ้างบริษัทเงินช่วยเหลือเงินชดเชย