ภัยโฆษณาเน็ต

ภัยโฆษณาเน็ต

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

ภัยโฆษณาเน็ต เทียบชั้นฆาตกร

ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่ โฆษณากันเกลื่อนในสื่อเคเบิ้ลทีวี วิทยุท้องถิ่น อินเตอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ จำพวกเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ เปรียบเสมือนขมิ้นกับปูนของหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบโดยตรงอย่าง อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

โฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้น มักเกิดจากการเห็นประโยชน์ด้านการค้ามากกว่าจริยธรรม จ้องแต่จะเอาเปรียบผู้บริโภค มีทั้งแฝงมาในรูปของโฆษณาเท็จ โฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อหรือเข้าใจผิด ซึ่งล้วนแล้วมีผลต่อการบริโภคของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ

นัยของคำว่า “โฆษณา” ตามกฎหมายของ อย. หมายถึง การกระทำด้วยวิธีใดก็ตาม ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า

“ข้อความ” ในที่นี้ หมายถึง การกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมาย หรือการกระทำที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้

การโฆษณาที่มักสร้างปัญหา มักเกิดจากการโฆษณา สรรพคุณ คุณภาพ หรือ คุณประโยชน์ของสิ่งที่โฆษณาเป็นเท็จ หรือ โอ้อวดเกินจริง

“สรรพคุณ” หมายถึง คุณงามความดี หรือคุณลักษณะประจำของสิ่งที่เป็นยา “คุณประโยชน์” หมายถึง ลักษณะที่เป็นประโยชน์ เช่น สมุนไพร มีคุณประโยชน์ในการทำยารักษาโรคได้ ส่วนคำว่า “คุณภาพ” หมายถึง ลักษณะที่ดีเด่นของบุคคล หรือสิ่งของ

โดยทั่วไป อย. มีหลักเกณฑ์ในการโฆษณาอาหารแบบคร่าวๆว่า

ชื่ออาหาร จะต้องไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ไม่เป็นเท็จ หรือไม่หลอกลวงให้เกิดการหลงเชื่อ หรือขัดกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

การแสดงสรรพคุณ และ คุณประโยชน์ ของอาหาร จะต้องแสดงสรรพคุณของอาหารนั้นทั้งตำรับ ไม่ใช่แสดงเพียงแค่สรรพคุณหรือคุณประโยชน์ของแต่ละส่วนประกอบ

ที่สำคัญ ต้องไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของอาหาร ไม่เป็นเท็จ หรือ เกินความจริง และ ต้องไม่เป็นการหลอกลวงให้หลงเชื่อ โดยไม่สมควร

เช่น ห้ามแสดงหรือสื่อให้เข้าใจว่าอาหารนั้นสามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค ลดความเสี่ยงต่างๆ หรือเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย มีสรรพคุณในการลดความอ้วน กำจัดไขมันส่วนเกิน ลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมการสร้างหรือสะสมไขมันในร่างกาย ช่วยให้รูปร่างดี ทำให้ผอม หรือใช้ข้อความทำนองเดียวกัน

ห้ามแสดงหรือสื่อให้เข้าใจว่า อาหารนั้นช่วยบำรุงสมอง ทำให้ฉลาด ทำให้ความจำดี ช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวดี ผิวขาวเนียน กระชับ เปล่งปลั่ง สดใส ช่วยบำรุงเกี่ยวกับเพศหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

นอกจากนี้ อย.ยังไม่อนุญาตให้ใช้บางถ้อยคำกับการโฆษณาคุณภาพ คุณประโยชน์ หรือสรรพคุณของอาหารทุกชนิดว่า ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ชั้นเลิศ ปาฏิหาริย์ ดีเลิศ ชนะเลิศ ยอดเยี่ยม เยี่ยมยอด สุดเหวี่ยง วิเศษ เลิศเลอ เลิศล้ำ ล้ำเลิศ หนึ่งเดียว ที่หนึ่งเลย ที่สุด ดีที่สุด บริสุทธิ์ ดีเด็ด ยอดไปเลย เยี่ยมไปเลย และ ฮีโร่ เป็นต้น

ดังนั้น สินค้าอาหารที่โฆษณาว่า “กาแฟลดความอ้วน”...“กาแฟลดน้ำหนัก”...“นมสูตรพิเศษเพื่อการบำรุงสมอง”...“ผิวสดใสใครๆก็อยากเป็นเจ้าของ”...“ช่วยบำรุงและเสริมประสิทธิภาพทางเพศ”...“หมดห่วงกับไขมันและน้ำหนักส่วนเกินที่คุณต้องการจะกำจัด”...“เครื่องดื่มสมุนไพร สูตรนี้เป็นสุดยอดของเครื่องดื่มสมุนไพร”...“ป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และหลอดเลือดแข็งตัว”

“ป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง”...“ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ”...“บำรุงสมอง หัวใจ ประสาท”...“ทำให้ท่านชายมีขนาดใหญ่ขึ้น อึดขึ้น เพิ่มน้ำรัก”...“แก้ปัญหาผมร่วง”...“เพิ่มภูมิต้านทานแก่ร่างกาย” และ “ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย”

จึงล้วนเป็นโฆษณาที่ฝ่าฝืนข้อห้ามของ อย.ทั้งสิ้น

แต่ในความเป็นจริง เรากลับพบเห็นโฆษณาขายตรงยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือเครื่องสำอางผิดกฎหมายเหล่านี้มีอยู่เกลื่อนเน็ตไปหมด

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ร่วมกับเว็บไซต์ยอดนิยมทางโลกออนไลน์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภาได้แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า 3 สิ่งที่น่ากลัวที่สุดและแฝงมากับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ

ความเร็ว (เห็นปุ๊บก็รีบแชร์ หรือส่งต่อปั๊บทันที โดยยังไม่ทันได้ชั่งใจหรือไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน) ความสั้น (เดี๋ยวนี้คนไทยไม่นิยมอ่านอะไรที่ยาวเกินกว่า 7 บรรทัด ชอบอ่านกันแค่จั่วหัวผิวเผิน ทั้งที่บางทีเนื้อใน เป็นคนละอย่างกับที่จั่วหัวไว้) ลุกลาม (การส่งต่อข้อมูลที่ลุกลามขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ บางเว็บไซต์ปลอม กลับมีผู้เข้าไปกดถูกใจ หรือยอดไลค์ถล่มทลายมากกว่าเว็บจริงเสียอีก เป็นต้น)

“ยกตัวอย่างโฆษณาบางตัว ใช้วิธีนำถ้อยคำบางส่วนของผู้ที่น่าเชื่อถือในสังคม เช่น ระดับศาสตราจารย์นายแพทย์มากล่าวอ้าง ผมเคยตรวจสอบกลับไปยังศาสตราจารย์นายแพทย์ผู้นั้น ท่านยอมรับว่า เคยพูดจริง แต่พูดเพียงแค่ครึ่งแรก อีกครึ่งหลัง ไม่รู้ใครไปต่อเติมให้ อย่างนี้เป็นต้น”

หรือกรณีที่มีการโฆษณาขายยามะเร็ง อวดอ้างสรรพคุณว่า วิเศษอย่างโน้นอย่างนี้ คนไข้มะเร็งบางรายหลงเชื่อ ถึงกับยกเลิกกินยาหรือหยุดรักษาชั่วคราวกับแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาล แต่สุดท้ายถูกหลอก กินแล้วไม่หาย ต้องกลับไปรักษาต่อกับหมอที่โรงพยาบาล แต่ก็ไม่ ทันการณ์เสียแล้ว เพราะอาการมะเร็งลุกลามไปหนัก จนแก้ไขไม่ได้ ทำให้ผู้ที่หลงเชื่อคำโฆษณาตายไปหลายคน

“กรณีเช่นนี้ถือว่าอันตรายมาก ไม่ต่างกับเป็นฆาตรกรแฝง ถ้าไม่อยากให้คนไทยต้องตกเป็นเหยื่อการโฆษณายา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ผิดกฎหมายและไร้จริยธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย.น่าจะมีเว็บไซต์เฉพาะให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบ หรือเช็กก่อนแชร์ สกัดการส่งต่อข้อมูลขยายวงกว้างกันอย่างมั่วๆ โดยทำให้สะดวกหรือง่ายในการตรวจสอบ เช่น มีบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์ที่ อย.ให้การรับรอง เป็นต้น”

สอดคล้องกับมุมมองของ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน อดีตรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้เชี่ยวชาญงานด้านไอที ให้ความเห็นไว้ว่า

“เรื่องของยา เครื่องสำอาง และอาหารเสริม มีมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล จึงทำให้มีพวกสำนักข่าวลือ ทั้งในเคเบิลทีวี วิทยุ อินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ ยั้วเยี้ยไปหมด อย.จึงควรมีเซิร์ฟเวอร์ หรือเว็บไซต์เฉพาะ ให้ประชาชนที่เกิดความสงสัยว่าเชื่อถือได้หรือไม่ สามารถกดเข้าไปสอบถามได้ตลอดเวลา”

“นอกจากนี้ยังควรพัฒนาเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข และ อย. บูรณาการให้เข้ากับการทำงานของทางตำรวจด้วย สุดท้าย เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่มักใช้โทรศัพท์มือถือท่องเน็ตกันเป็นหลัก การออกแบบเว็บไซต์ของ อย. ควรต้องเหมาะสมกับการใช้งานบนหน้าจอโทร.มือถือด้วย เป็นต้น”.

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 5,025 ครั้ง

คำค้นหา : ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่ โฆษณากันเกลื่อน สื่อเคเบิ้ลทีวี วิทยุท้องถิ่น อินเตอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์เห็นประโยชน์ด้านการค้ามากกว่าจริยธรรมมีทั้งแฝงมาในรูปของโฆษณาเท็จ จ้องแต่จะเอาเปรียบผู้บริโภคโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ คุณประโยชน์ของสิ่งที่โฆษณาเป็นเท็จ หรือ โอ้อวดเกินจริงคุณงามความดี หรือคุณลักษณะประจำของสิ่งที่เป็นยา ขัดกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย