มือถือกับความเชื่อและความเข้าใจผิด ๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

มือถือกับความเชื่อและความเข้าใจผิด ๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

โทรศัพท์มือถือกับความเชื่อและความเข้าใจผิด ๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ถึงแม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะเป็นสิ่งที่เราใช้กันมานานหลายสิบปี และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่ก็ยังมีหลายเรื่องเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือที่เป็นความเชื่อหรือความเข้าใจผิด ๆ ซึ่งไม่ใช่ความจริง โดยในวันนี้เราจะมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องในประเด็นเหล่านี้กับเพื่อน ๆ กัน

1. กล้องมือถือพิกเซลสูงกว่า ไม่ได้ถ่ายสวยกว่าเสมอไป

  • ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือหลาย ๆ รุ่นมีความละเอียดกล้องสูงถึงหลักร้อยล้านพิกเซล แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ายิ่งจำนวนพิกเซลสูงจะยิ่งถ่ายภาพได้สวยขึ้นเสมอไป เพราะจำนวนพิกเซลนั้นส่งผลเพียงความละเอียดของภาพที่ได้ ช่วยให้ซูมภาพแล้วไม่แตก แต่ความสวยของภาพถ่ายยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของเลนส์กล้อง ระบบการประมวลผลภาพ แสง สี และฟีเจอร์ต่าง ๆ ซึ่งก็แปลว่ามือถือรุ่นที่กล้องพิกเซลต่ำกว่าอาจถ่ายภาพออกมาได้สวยกว่ารุ่นที่กล้องพิกเซลสูงกว่าก็เป็นได้

 

2. ควรปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อพักเครื่องบ้าง

  • บางคนอาจจะเข้าใจว่าควรปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อพักเครื่องบ้าง เพราะกลัวว่าถ้าเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลาจะทำให้เครื่องทำงานหนักและพังเร็วเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป แต่โดยปกติโทรศัพท์มือถือถูกผลิตมาให้สามารถเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลาทั้งวัน 24 ชั่วโมงได้อยู่แล้ว ซึ่งมีคนจำนวนมากที่ใช้งานโทรศัพท์เครื่องหนึ่งกันมาหลายปีโดยที่ไม่เคยปิดเครื่องเลยและไม่เกิดปัญหาใด ๆ ที่เห็นได้ชัด นอกเสียจากว่าแบตเตอรี่จะหมดเร็วกว่าการปิดเครื่องเมื่อไม่ได้ใช้งาน ทำให้ต้องชาร์จบ่อยขึ้น และแบตเตอรี่อาจจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าก็เท่านั้นเอง

 

3. เปิด Bluetooth ทิ้งไว้ทำให้เปลืองแบตเตอรี่

  • อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องคอยปิด Bluetooth ของโทรศัพท์มือถือตลอดเมื่อไม่ได้ใช้งานหรือเลิกใช้งานแล้ว เพราะกลัวว่าถ้าเปิดทิ้งไว้จะทำให้เปลืองแบตเตอรี่ แต่ในความเป็นจริงแล้วฟังก์ชัน Bluetooth จะกินแบตเตอรี่เฉพาะเวลาที่มีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ และใช้งานอยู่เท่านั้น ส่วนตอนที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ใด ๆ เพียงแต่เปิด Bluetooth ทิ้งไว้เฉย ๆ จะไม่กินแบตเตอรี่ หรืออาจใช้แบตเตอรี่น้อยมากจนเราไม่สามารถรู้สึกได้เลย

 

4. ต้องใช้จนแบตเตอรี่หมดก่อนจึงจะชาร์จได้

  • หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการจะชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้งนั้น ควรใช้จนแบตเตอรี่หมดหรือใกล้หมดก่อนจึงจะชาร์จได้ เพราะกลัวว่ายิ่งชาร์จบ่อย ๆ จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว แต่ความจริงแล้วเราสามารถชาร์จแบตเตอรี่ตอนไหนก็ได้ กลับกันหากยิ่งใช้จนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยงเหลือ 0% หรือปล่อยให้เครื่องดับเองบ่อย ๆ นั่นจะยิ่งทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมือถือบางรุ่นจะดับเครื่องทันทีเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อแบตเตอรี่นั่นเอง

 

5. ไม่ควรชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ทั้งคืน

  • การเสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือทิ้งไว้ทั้งคืนนั้น เมื่อแบตเตอรี่เต็มแล้วแต่ยังไม่ได้ถอดที่ชาร์จออก ระบบจะตัดไฟเพื่อป้องกันปัญหาการชาร์จไฟเกิน จึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม การชาร์จแบตเตอรี่ให้ได้ 80% แล้วถอดออก จะช่วยถนอมแบตเตอรี่ได้มากกว่าการชาร์จจนเต็ม 100% แล้วเสียบทิ้งไว้ แต่มือถือในปัจจุบันหลายรุ่นก็มีฟีเจอร์ที่สามารถกำหนดเวลาให้ชาร์จเต็มในช่วงเวลาที่ผู้ใช้มักจะถอดสายชาร์จออกพอดีด้วยเช่นกัน

 

6. ควรใช้ที่ชาร์จที่ให้มากับเครื่องเท่านั้น

  •  แน่นอนว่าการใช้ที่ชาร์จแบตเตอรี่ที่แถมมาในกล่องโทรศัพท์มือถือตอนซื้อย่อมดีที่สุดแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนไปใช้หัวชาร์จหรือสายชาร์จยี่ห้ออื่นที่รองรับก็ไม่เกิดผลเสียหรืออันตรายต่อแบตเตอรี่แต่อย่างใด นอกเสียจากว่าจะเป็นที่ชาร์จที่ผลิตมาไม่ได้มาตรฐานหรือมีความเสียหาย เพียงแต่ระยะเวลาการชาร์จอาจจะอยู่ในระดับปกติ หรือช้าลงบ้างสำหรับมือถือที่รองรับการชาร์จเร็ว

 

7. ฟีเจอร์ชาร์จเร็วทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว

  • โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักรองรับการชาร์จเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในบางรุ่นสามารถชาร์จได้สูงสุดเกิน 100W เลยทีเดียว แต่หลายคนก็อาจกังวลว่าการชาร์จแบบนี้จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้นหรือไม่ เพราะต้องอัดกระแสไฟฟ้าเข้าสู่แบตฯ มือถืออย่างรวดเร็ว แถมตัวเครื่องยังอุ่นขึ้นหรือร้อนขณะชาร์จอีก ซึ่งความจริงมือถือที่รองรับส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงว่าจะกระทบต่ออายุของแบตเตอรี่เลย โดยหลักการชาร์จแบตเตอรี่เร็วจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะอัดแรงดันไฟฟ้าแบบเต็มที่ อย่างที่คำเคลมของหลายแบรนด์กล่าวไว้ว่า ชาร์จได้ 50-70% ภายใน 30-40 นาที แต่หลังจากนั้นระยะเวลาการชาร์จจะเริ่มช้าลงเพื่อช่วยถนอมแบตเตอรี่

 

8. ซื้อโทรศัพท์มือถือใหม่ ต้องชาร์จแบตเตอรี่ครั้งแรก 8 ชั่วโมง

  • หลายคนอาจเคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยก่อนยุคสมาร์ตโฟนว่า เมื่อซื้อโทรศัพท์มือถือมาใหม่ ให้ชาร์จทิ้งไว้อย่างน้อยประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ แต่โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันนั้นใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion กันหมดแล้ว ทำให้ไม่มีประโยชน์และความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องชาร์จทิ้งไว้นานถึง 8 ชั่วโมง หรือชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืน ดังนั้นสามารถชาร์จแค่ให้เต็มแล้วเริ่มใช้งานตามปกติได้เลย

 

9. ไม่ควรวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ตัวตอนนอน

  • อีกหนึ่งความเชื่อที่ถูกกล่าวกันมานานตั้งแต่ยุคก่อนสมาร์ตโฟนว่าโทรศัพท์มือถือจะมีการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ส่งผลให้เป็นมะเร็งได้ จึงไม่ควรวางไว้ใกล้ตัวขณะนอนหลับ แต่แท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือนั้นมีปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ เพียงแค่วางไว้เฉย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลาในระหว่างวันได้ ตอนนอนก็ไม่จำเป็นต้องวางไว้ห่าง ๆ ตัวแต่อย่างใด

 

10. เล่นโทรศัพท์มือถือตอนฟ้าร้องเสี่ยงโดนฟ้าผ่า

  • เนื่องจากสัญญาณและตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือไม่ได้มีแรงเหนี่ยวนำไฟฟ้ามากพอที่จะทำให้ฟ้าผ่าลงมาได้ การเล่นโทรศัพท์ตอนฟ้าร้องแล้วจะโดนฟ้าผ่านั้นจึงไม่เป็นความจริง ส่วนสิ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโดนฟ้าผ่ามากขึ้นคือการยืนอยู่กลางแจ้งหรือใต้ที่สูงและปลายแหลมอย่างเช่นต้นไม้ และถ้าหากโดนฟ้าผ่าขณะมีโทรศัพท์อยู่ที่ตัว เมื่อกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านตัวเครื่องโทรศัพท์จะทำให้แบตเตอรี่ระเบิดจนได้รับบาดเจ็บรุนแรงกว่าเดิม อันเป็นสาเหตุที่ทำให้โทรศัพท์ที่อยู่กับร่างของคนโดนฟ้าผ่ามักมีรอยไหม้หรือระเบิดนั่นเอง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : makeuseof.com, maketecheasier.com

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th

แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ

user
โดย Nong-beam
เข้าชม 837 ครั้ง

คำค้นหา : มือถือความเชื่อมือถือความเชื่อการใช้งานมือถือความเชื่อมือถือแนวความเชื่อ10 ความเชื่อประเด็นความเชื่อแนวทางมือถือ