ราคาค่าบริการ 4จี

ราคาค่าบริการ 4จี

หมวดหมู่: บทความทั่วไปข่าวไอที

เปิดราคาค่าบริการ 4จี
บริการ 4จี ดังกล่าวนี้ได้สืบเนื่องมาจากที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้จัดประมูลเมื่อช่วงปลายปี 2558 วันอังคารที่ 5 มกราคม 2559 เวลา 5:27 น. 

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในปี 2559 นี้จะมีบริการ 4จี บนคลื่นความถี่ ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง 

บริการ 4จี ดังกล่าวนี้ได้สืบเนื่องมาจากที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้จัดประมูลเมื่อช่วงปลายปี 2558 ให้เอกชนเข้ามาเคาะเสนอราคาช่วงชิงใบอนุญาต และที่สำคัญยังเป็นการเปิดให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่เกิดขึ้น ประชาชนจะได้ใช้ 4จี รวมถึงรัฐบาลได้รายได้จากการประมูลถึง 1.92 แสนล้านบาท 

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม(ประธาน กทค.) เปิดเผยว่า จากการประมูล 4จี จำนวน 2 คลื่น ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะส่งผลให้เลขหมายโทรศัพท์มือถือนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านเลขหมาย จากที่มีอยู่ในระบบจำนวน 110 ล้านเลขหมาย 

นอกจากนี้ยังพบว่าในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า เครื่องสมาร์ทโฟนจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอีก 3 พันล้านเครื่อง และเอเชียแปซิฟิก จะมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลก ส่งผลไปยังผู้ให้บริการต้องเจอกับการรับ-ส่งข้อมูลที่วิ่งอยู่บนโครงข่ายอย่างมหาศาล ดังนั้นผู้ให้บริการจึงมีความต้องการคลื่นความถี่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อนำมาพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

จากการคาดการณ์ของ กสทช. มองว่าผู้ให้บริการแต่ละรายที่ต้องการพัฒนาไปสู่ระบบ 4G LTE Advanced และควรจะมีคลื่นอย่างน้อย 50-60 เมกะเฮิรตซ์ ในการพัฒนาไปสู่ LTE Advanced เพื่อรองรับการรับ-ส่งข้อมูล ที่จะเพิ่มถึง 600% ภายใน 5 ปีข้างหน้า 

เมื่อเข้าสู่ยุค 4จี พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ จึงมองว่า นับจากนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะมุ่งให้บริการเชื่อมโยงอุปกรณ์ ส่งข้อมูลสถานะ ตลอดไปจนถึงติดตามตรวจสอบอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเป็นช่องทางการให้บริการในรูปแบบ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือแม้กระทั่งการให้บริการการเชื่อมต่ออุปกรณ์ส่วนบุคคล และการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ 

นอกจากนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในยุค 4จี ต้องยกระดับบริการ Over-the-Top (OTT) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียที่ไม่ใช่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบต่าง ๆเนื่องจากพวกนี้จะมาใช้แบนด์วิดธทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแบกรับภาระการรับ-ส่งข้อมูลที่ไม่ใช่ของตนเองมากเกินไป แต่ได้รับเพียงค่าบริการขายแพ็กเกจดาต้าเท่านั้น ดังนั้นจึงแนะนำให้ปรับตัวติดตั้งธุรกิจ OTT ของตนเอง สร้างแอพพลิเคชั่นเป็นเพื่อไม่ให้คนอื่นมาแย่งแบนด์วิดธ 

ส่วนค่าบริการจะถูกปรับเปลี่ยนจากเดิมที่คิดแบบแพ็กเกจที่มีทั้งการใช้งาน วอยซ์ และดาต้า มาเป็นรูปแบบการคิดค่าบริการเป็นแบบ Pool transaction ต่อหน่วยชั่วโมง หรืออื่น ๆ ที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้บริโภค 

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวยืนยันว่าปี 2559 อัตราค่าบริการ 4จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ นั้นราคาเฉลี่ยต้องถูกกว่า 3จี 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยค่าบริการด้านเสียง (วอยซ์) ต้องไม่สูงกว่า0.72บาทต่อนาที เอสเอ็มเอส1.24บาทต่อข้อมความ เอ็มเอ็มเอส2.93บาทต่อข้อความ และดาต้า0.26บาทต่อเมกะบิต รวมถึงมีแพ็กเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อย คือ มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน1หมื่นบาท และต้องทำเอกสารด้วยตัวอักษรใหญ่ หรือBrailleสำหรับผู้พิการทางสายตา 

สำหรับคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. นำมาจัดสรรผ่านการประมูลนั้นถือว่ามีความดุเดือด มีการประมูลแบบข้ามวันข้ามคืนในปี2558 เนื่องจากมองว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องการครอบครองคลื่นไว้ในมือตนเอง 

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการมือถือ โดยเรียงลำดับจากเบอร์ 1 ในตลาดอย่าง เอไอเอส ที่มีลูกค้าในระบบกว่า 43 ล้านราย มีคลื่นที่ใช้งานรวมจำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็นคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานถึงปี 2574 และ คลื่น 2100เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานถึงปี 2570 

รองลงมา คือ ดีแทค มีฐานลูกค้าในระบบ 25 ล้านราย แม้ว่าในปี 2558 ดีแทคจะพลาดใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นนั้น แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการลูกค้า เนื่องจากดีแทคมีคลื่นอยู่จำนวน 50 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น คลื่น 2100เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานถึงปี2570 และมีคลื่นที่อยู่ในระบบสัปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) อีกจำนวน 2 คลื่น คือ คลื่น 1800เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 850เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งสามารถใช้จนถึงปี 2561 

ทรู มีลูกค้าจำนวน 18.5 ล้านราย และถือว่ามีคลื่นค่อนข้างจำนวนมากถึง 55 เมกะเฮิรตซ์ ประกอบด้วย คลื่น2100เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานถึงปี2570, คลื่น 1800เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานถึงปี 2574, คลื่นย่าน900เมกะเฮิรตซ์ใช้งานถึงปี2574 นอกจากนี้ทรูยังมีคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานได้ถึงปี2568 ซึ่งอยู่ในสัมปทานกับ กสท โทรคมนาคมฯ 

สุดท้ายน้องใหม่ในตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นเจ้าเก่าผู้ให้บริการ ฟิกซ์บรอดแบนด์อย่าง 3BB อย่างบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ถือครองคลื่น 900เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานถึงปี2574 จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ แต่กลับไม่เป็นปัญหาต่อธุรกิจมือถือ เนื่องจากได้ดำเนินการเช่าใช้เสาส่งสัญญาณและโรมมิ่งการใช้งานเสียงกับรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้งานตามปกติ 

ทั้งนี้เทคโนโลยีนั้นได้มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ก่อนเข้าสู่ยุค 4จี นั้น ได้เริ่มจาก 1จี เป็นระบบอนาล็อก เน้นการโทรฯ เป็นหลัก จากนั้นพัฒนาเข้าสู่ยุค 2จี ซึ่งเป็นระบบดิจิตอลแต่ยังใช้งานแบบโทรฯ อยู่ แต่เพิ่มฟังก์ชัน เอสเอ็มเอส ถัดมาเข้ายุค 3จี มีการใช้งานโทรฯ ส่งเอสเอ็มเอส และได้เพิ่มอินเทอร์เน็ต ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เน้นการโทรฯ แต่เน้นการกดแทน 

และยุค 4จี ถือเป็นการเข้าสู่บรอดแบนด์ดาต้าอย่างแท้จริง เพิ่มความเร็วรับ-ส่งข้อมูล วิดีโอ ให้มากขึ้น โดยเทคโนโลยียังถูกออกแบบมาเพื่อรองรับดาต้าอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ทั้งนี้ 2จี ก็ยังคงให้บริการเช่นเคยเนื่องจากยังมีความสำคัญเพราะเมื่อผู้ใช้งาน 4จี ระบบจะสลับมาที่ระบบ 2จี หรือ 3จี ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ 

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี 4จี กสทช. ยังได้มั่นใจว่าจะเข้ามามีส่วนสำคัญให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ ในขณะเดียวกันยังช่วยผลักดันการขยายตัวของธุรกิจ พร้อมกันนี้ผู้บริโภคยังจะได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

นับจากนี้ 4จี นอกจากจะมาตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่ต้องการใช้งานข้อมูลแล้วนั้น ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของประเทศ และ 4จี จะเข้ามามีบทบาทในทุก ๆ อุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลต่อไป .

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 4,795 ครั้ง

คำค้นหา : บริการ 4จี บนคลื่นความถี่ ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ เครื่องสมาร์ทโฟนจะมีอัตราเพิ่มขึ้นผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลกความต้องการคลื่นความถี่ในปริมาณที่เหมาะสมการพัฒนาไปสู่ระบบ 4G LTE Advanced ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะมุ่งให้บริการเชื่อมโยงอุปกรณ์ ติดตามตรวจสอบอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆบริการในรูปแบบ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์บริการการเชื่อมต่ออุปกรณ์ส่วนบุคคลยกระดับบริการ Over-the-Top (OTT)สร้างแอพพลิเคชั่นเป็นเพื่อไม่ให้คนอื่นมาแย่งแบนด์วิดธ