รู้จัก “อาหาร 3 มิติ” เทคโนโลยีอาหารที่รองรับโลกในอนาคต
อาหาร อันเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มจึงเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันตาย และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ที่น่าตื่นเต้นได้มากมาย เพราะไม่ว่ายังไงคนก็ต้องกินอาหารเพื่อการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม โลกในยุคปัจจุบันมีปัญหาด้านอาหารที่เรียกว่า “วิกฤติการณ์อาหาร” ซึ่งอาจทำให้ประชากรโลกขาดแคลนอาหารได้
เพื่อรองรับการบริโภคของมนุษยชาติในอนาคต ควบคู่ไปกับพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ทันสมัย จะทำให้เราได้เห็นเทคโนโลยีด้านอาหารในปัจจุบันที่กำลังได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ เทคโนโลยีอาหาร 3 มิติ (3D printing food) ที่สามารถเนรมิตอาหารขึ้นมาได้ภายในเวลาไม่กี่นาที แถมยังสร้างสรรค์วัตถุดิบจากพืชให้กลายเป็นเนื้อสัตว์เทียมได้อย่างง่ายดาย เป็นอาหารทางเลือกให้กับคนที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่อยากลองกินเนื้อสัตว์เทียมจากพืช
อาหาร 3 มิติ คืออะไร
อาหาร 3 มิติ เป็นอาหารที่ “สร้างขึ้น” จากเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ หรือ 3D Food Printer ซึ่งเป็นเครื่องขึ้นรูปอาหารแบบ 3 มิติ มีลักษณะคล้ายกับเครื่อง 3D Printer ทั่วไป แต่เปลี่ยนจากการใช้พลาสติกในการขึ้นรูป มาเป็นวัตถุดิบอาหารแทน การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จะขึ้นรูปทีละชั้น ทำให้สามารถออกแบบอาหารที่มีโครงสร้างซับซ้อนหลากหลายรูปทรงได้ และสามารถเติมสารอาหารต่างๆ เข้าไปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ หรือควบคุมองค์ประกอบต่างๆ ในอาหารได้อย่างละเอียดและแม่นยำ นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่ในการประกอบอาหารไม่มาก จึงไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นและควันในระหว่างการเข้าครัว
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีอาหาร 3 มิติ ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่มีพัฒนาการมานานกว่า 30 ปีแล้ว สามารถสร้างสรรค์เมนูอาหารได้หลากหลายทั้งคาวหวาน แต่ในปัจจุบัน เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์เทียม โดยใช้วัตถุดิบจากพืชแทนเนื้อสัตว์ ให้ออกมามีรูปลักษณ์และรสชาติที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์นั้นๆ มาก ทำให้อาหารที่ได้จะเป็นลักษณะเดียวกันกับ plant-based meat โดยเทคโนโลยีการพิมพ์อาหาร 3 มิติ จะแบ่งออกเป็น 3 เทคนิคหลัก ได้แก่
1. การพิมพ์แบบ Extrusion-based หรือ Fused Deposition Method (FDM)
เป็นเทคนิคที่แพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้ง่าย คล้ายคลึงกับกระบวนการแปรรูปอาหารแบบอัดรีดผ่านเกลียว อีกทั้งเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ใช้มีราคาไม่สูงมากสำหรับรุ่นเริ่มต้นเมื่อเทียบกับเทคนิคอื่น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารที่ขึ้นรูปโดยเทคนิคนี้ เช่น ช็อกโกแลต พาสต้ารูปทรงฟรีฟอร์ม เนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเคี้ยวกลืนลำบาก
2. การพิมพ์แบบ Powder Bed Fusion หรือ Selective Laser Scanning
เป็นเทคนิคการพิมพ์โดยการเกลี่ยวัตถุดิบอาหารที่มีลักษณะเป็นผงให้เป็นชั้นบางๆ แล้วใช้ลำแสงเลเซอร์ยิงไปยังตําแหน่งที่ต้องการพิมพ์ เพื่อให้ผงวัตถุดิบหลอมตัวจนประสานเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงทำซ้ำแบบนี้ในการพิมพ์ชั้นถัดๆ ไป จนกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่ออกแบบไว้ การพิมพ์ด้วยเทคนิคนี้มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเทคนิค FDM แต่มีศักยภาพสูงในการพิมพ์วัตถุดิบที่มีลักษณะเป็นผง และสามารถใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ขนมหวานที่ทำจากน้ำตาล ให้มีขนาดและรูปร่างเฉพาะหรือซับซ้อน และยังช่วยลดปริมาณวัตถุดิบในกระบวนการผลิตได้
3. การพิมพ์แบบ Binder Jetting
เป็นเทคนิคที่คล้ายกับการพิมพ์แบบ Powder Bed Fusion แต่ใช้การพ่นของเหลวหรือส่วนผสมวัตถุดิบอาหารอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าตัวประสาน เพื่อประสานผงวัตถุดิบเข้าด้วยกันในตำแหน่งที่ต้องการ กระบวนการนี้จะทำซ้ำไปซ้ำมาตามจำนวนชั้นที่ต้องการ จนผลิตภัณฑ์ฝังตัวลงในผงวัตถุดิบ ส่วนผงวัตถุดิบที่ไม่ติดกับสารยึดเกาะจะถูกนำออกและนำกลับมาใช้ในการพิมพ์ครั้งต่อไป ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะนำไปผ่านกรรมวิธีในขั้นตอนสุดท้ายด้วยกระบวนการที่เหมาะสม เช่น การอบ เทคนิคนี้นิยมใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเบเกอรี่และขนมหวาน ให้ลักษณะเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์
วัตถุดิบที่ใช้เป็นหมึกพิมพ์
ในส่วนของวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้กับเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์อาหารหวาน แต่ก็มีวัตถุดิบอื่นๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องพิมพ์ ได้แก่
- กลุ่มผักและผลไม้ เช่น แอปเปิล แอปพริคอต อะโวคาโด กล้วย หัวบีต มะละกอ ฟักทอง มะม่วง แคร์รอต ผักโขม
- กลุ่มธัญพืช เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าว แพนเค้ก พาสตา พิซซา แป้งโดว์ ควินัว
- กลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อหมู ถั่ว เต้าหู้ แมลงต่างๆ
- กลุ่มอาหารข้นและเหลว เช่น ซอสหอยนางรม น้ำจิ้มอาหารทะเล เจลลี
- กลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ชีส ครีม วิปครีม โยเกิร์ต
- กลุ่มขนมหวาน เช่น คุกกี้ ช็อกโกแลต น้ำตาลไอซิ่ง ไอศกรีม
ตัวอย่างอาหารที่ได้จากการพิมพ์ด้วย 3D Food Printing คือเนื้อวัว ที่สามารถทำกินเองได้โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ แต่เหมือนได้กินเนื้อวัวจริงๆ เนื้อวัวเทียมนี้สร้างขึ้นจากเครื่อง 3D Food Printer ของบริษัท Redefine meat จากประเทศอิสราเอล เนื้อวัวที่พิมพ์ออกมาจะถูกเรียกว่า Alt-Steak ที่มีลักษณะ รสชาติ และกลิ่นที่เหมือนสเต็กเนื้อวัวแท้ๆ เนื่องจากมีสูตรการพิมพ์ที่แยกออกเป็น 3 ส่วน คือ Alt-Muscle (กล้ามเนื้อ) Alt-Fat (ไขมัน) และ Alt-Blood (เลือด) จากหมึกพิมพ์ที่เป็นวัตถุดิบจากพืชหลากหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง โปรตีนถั่ว ไขมันมะพร้าว น้ำมันดอกทานตะวัน นำมาเข้ากระบวนการพิมพ์ซ้ำๆ เพื่อขึ้นโครงสร้างทีละชั้นเลียนแบบเนื้อวัว
หรือแม้กระทั่งเนื้อปลาแซลมอน ทุกวันนี้ก็ใช้วิธี 3D Food Printing สร้างขึ้นมาได้ แถมยังมีการนำไปวางจำหน่ายจริงในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ประเทศออสเตรียแล้วด้วย เนื้อปลาแซลมอนนี้เป็นโซลูชันด้านอาหารสำหรับคนเป็นมังสวิรัติแต่อยากลองกินเนื้อปลา นอกจากนี้ยังมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการจับปลาหรือการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์แบบเดิมๆ ลดความเสี่ยงที่สัตว์บางประเภทจะสูญพันธุ์ ลดการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ที่สำคัญ คือลดปัญหาการปนเปื้อนของมลพิษทางทะเล จึงกลายเป็นอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ได้คุณค่าทางโภชนาการ โปรตีนสูง และมีโอเมก้า 3 คอเลสเตอรอลต่ำ และปราศจากสารมลพิษที่มักพบในปลาจริง
ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์อาหาร 3 มิติ และข้อจำกัด
เนื่องจากเทคโนโลยีการพิมพ์อาหาร 3 มิติ เป็นรูปแบบหนึ่งในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันก็มีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ดังนี้
- สร้างสรรค์อาหารได้อย่างไร้ขีดจำกัด
เครื่อง 3D Food Printer ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์อาหารได้ตามจินตนาการอย่างไม่มีขีดจำกัด เนื่องจากเราสามารถออกแบบรูปทรงและลวดลายของอาหารแบบ 3 มิติได้ตามใจชอบ ตัวเครื่องจะสร้างสรรค์ผลงานให้เราเอง
- สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค
เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการด้านอาหารที่หลากหลาย ทั้งการไม่บริโภคเนื้อสัตว์ การเลือกกินอาหารที่เน้นสุขภาพหรือข้อจำกัดด้านสุขภาพ ผู้บริโภคจึงต้องเลือกกินอาหารที่เหมาะกับตัวเอง การพิมพ์อาหาร 3 มิติจึงทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารและสารอาหารที่เหมาะกับตัวเองได้
- ลดต้นทุนในการผลิตและขนส่ง
ต้นทุนของวัตถุดิบและระยะทางการขนส่งอาหารที่ห่างไกล เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาหารมีราคาแพง การนำเทคโนโลยีการพิมพ์อาหารแบบ 3 มิติมาใช้ จึงสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ ทำให้ผู้บริโภคที่อยู่ปลายทาง ได้มีโอกาสกินอาหารที่มีรสชาติแบบเดียวกัน คุณภาพสดใหม่ ได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม
- ลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง
ขั้นตอนการเตรียมอาหารบางอย่าง รวมถึงการกินอาหารแบบเหลือทิ้ง ทำให้เกิดขยะอาหาร อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า แต่การผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จะช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรโดยไม่เสียเปล่า เพราะสามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารด้วย 3D Food Printer ได้ จึงเป็นการช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้ในคราวเดียว
- แหล่งอาหารสำหรับนักบินอวกาศ
การพิมพ์อาหารแบบ 3 มิติ สามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับนักบินอวกาศที่ต้องไปปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลกได้ สำหรับอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม การพิมพ์อาหาร 3 มิติก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แม้ว่าทิศทางในอนาคตและเทคโนโลยีที่ใช้จะดูน่าตื่นเต้นแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากอาหารบางชนิดไม่เหมาะที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ อาหารต้องแปรรูปล่วงหน้าเพื่อเตรียมใช้ในเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งจะทำงานได้ดีที่สุดกับส่วนผสมที่มีความหนืดคล้ายแป้งเปียก สามารถคงรูปหลังจากถูกดันผ่านหลอดฉีดอาหาร และจำเป็นต้องเติมสารเพิ่มความข้นให้กับผักและผลไม้ที่มีปริมาณน้ำสูง หากจะใช้การพิมพ์ 3 มิติ อาหารที่มีลักษณะนิ่มอาจยุบตัวได้หากใส่หลายชั้นเกินไป และอาจเสียเนื้อสัมผัส รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการหลังจากวัตถุดิบเคลื่อนผ่านเครื่องด้วย
นอกจากนี้ อาหาร 3 มิติยังมีอายุการเก็บรักษาที่จำกัด เก็บไว้ได้ไม่นานเท่ากับอาหารทั่วไป เพราะอาหารจะเสื่อมสภาพเร็วและกระบวนการย่อยสลายมักสั้นกว่า อีกทั้งยังไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการการกินอาหารแบบเร่งรีบ อาหารตามสั่ง หยิบได้ทันที หรือเสิร์ฟแบบร้อนๆ และที่สำคัญ เครื่อง 3D Food Printer ก็ยังมีราคาสูงต่อการลงทุน และไม่สามารถทดแทนการปรุงอาหารแบบดั้งเดิมที่สามารถใช้วัตถุดิบสดใหม่ได้
วิกฤติอาหารโลกร้ายแรงแค่ไหน และความสำคัญของอาหาร 3 มิติ
วิกฤติอาหารโลก (Global food crisis) หมายถึง สถานการณ์ที่มีการขาดแคลนอาหาร หรือประชากรบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการ วิกฤตินี้อาจเกิดจากปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ส่งผลต่อกิจกรรมการผลิตอาหารของโลก ภัยธรรมชาติ ความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ปัญหาเชิงระบบภายในระบบการผลิต และการจำหน่ายอาหาร ผลที่ตามมาของวิกฤติอาหาร อาจรวมถึงความหิวโหยที่เพิ่มขึ้น ภาวะทุพโภชนาการ ความไม่สงบทางสังคม และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาล องค์กร และบุคคลต่างๆ
เพราะมันดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่ “อาหารจะหมดโลก” แต่จริงๆ ในปัจจุบันนี้มีหลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติอาหารโลกจริงๆ ที่เห็นได้ชัด คือการที่อาหารมีราคาสูงขึ้น ทำให้ภาวะการขาดแคลนอาหารของทั่วโลก มีแนวโน้มขยายวงกว้าง และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจส่งผลให้ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า เราจะไม่มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้
ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) แสดงให้เห็นว่าในหลายๆ พื้นที่ของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการเกิดวิกฤติการณ์อาหารมาตั้งแต่ปี 2019 โดยประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 25.9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร และคาดการณ์ว่าในปี 2030 ประชากรโลกจำนวน 660 ล้านคนอาจจะยังคงเผชิญกับความหิวโหย
การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ถือเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้คาดการณ์ว่าประชาการโลกจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 7,300 ล้านคน เป็น 8,500 ล้านคน ในปี 2030 และเพิ่มเป็น 11,200 ล้านคน ในปี 2100 ส่งผลให้โลกมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนอาหารเนื่องมาจากปริมาณความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของวิกฤติการณ์นี้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อมีโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และสงครามมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้โลกขาดแคลนอาหารมากกว่าเดิม กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะจบลงอย่างไร ก็ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารของโลกไปด้วย เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรวมกันแล้วเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก โดยข้าวสาลีก็ถือเป็นวัตถุดิบหลักในครัวเรือนเสียด้วย สงครามทำให้ภาคการส่งออกของ 2 ประเทศนี้มีปัญหา ราคาข้าวสาลีทั่วโลกจึงพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2022
ไม่เพียงเท่านั้น ต้นทุนอื่นๆ ก็ล้วนแพงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสำหรับคนและสัตว์มีราคาพุ่งสูงขึ้นตาม จนนำไปสู่การเกิด “วิกฤติการณ์อาหารโลก” ผู้คนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกต้องประสบกับความอดอยากและหิวโหย ทั้งที่อาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มนุษย์จำเป็นต้องได้รับอย่างเพียงพอ
อาหาร 3 มิติ จึงนับเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อรองรับวิกฤติการณ์การขาดแคลนอาหาร เมื่อกระบวนการผลิตอาหารแบบเดิมๆ และปัจจัยทางธรรมชาติด้านอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก ในขณะที่มนุษย์ต้องผลิตอาหารเพิ่ม แต่ผลผลิตทางการเกษตรและการปศุสัตว์กลับลดลง นอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนของสารพิษ ที่ทำให้อาหารไม่มีคุณภาพเพียงพอจะนำมาเป็นอาหาร
การพิมพ์อาหาร 3 มิตินับเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตอย่างมาก ช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง ทั้งจากขั้นตอนการเตรียมอาหาร และของเหลือจากการบริโภค ในขณะที่อาหารเหลือทิ้งบางอย่างยังอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ ที่สามารถนำมาเปลี่ยนสภาพให้เป็นหมึกพิมพ์อาหาร เพื่อนำไปใช้ในการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์อาหาร 3 มิติได้ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อาหารเหลือทิ้ง และลดปริมาณการสูญเสียในห่วงโซ่การผลิตอาหาร
การผลิตอาหาร 3 มิติ จึงเป็นกระบวนการผลิตอาหารที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า สามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการได้ครบถ้วน และไม่เกิดของเหลือทิ้งในกระบวนการ รวมถึงสามารถลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ต่ำกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์เสียด้วยซ้ำ จึงมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตจะมีอาหารที่ได้จากกระบวนการอาหาร 3 มิติแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากวิวัฒนาการและนวัตกรรมดิจิทัลที่ก้าวหน้ากว่าเดิม เทคโนโลยีอาหาร 3 มิติ จะเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตอย่างมาก และเป็นความท้าทายทั้งในภาคเทคโนโลยีและภาคอุตสาหกรรมอาหารด้วย
ที่มา: sanook.com/hitech/1590155
ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting
ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ
Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFeFacebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ
Building Microservices with Node.js
Microservices ช่วยให้เราสามารถพัฒนาซอฟแวร์เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ โด...
Building Microservices with Spring Boot and Spring Cloud
การออกแบบและพัฒนา RESTful web service ในยุคปัจจุบันถือว่าเป็นส่วนที่กำลังได้รับความนิยม...
Building Microservices with .NET Core
Microservices จะแยกพัฒนาแต่ละเซอร์วิซออกจากกันโดยชัดเจน โดยกำหนด API ไว้ให้เรียกใช้ แต่...
Kubernetes
Kubernetes หรือ K8s คือ Container Orchestration เป็น OpenSource จาก Google ที่จะมาช่วยใ...
Building Microservices with Python
Microservices ช่วยให้เราสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่สามารถทำงานร่วมกันได้...
Building Microservices with NestJS
Microservices ช่วยให้เราสามารถพัฒนาซอฟแวร์เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ โด...
คำค้นหา : เครื่องพิมพ์ 3 มิติเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติวิกฤติการณ์อาหารเนื้อสัตว์เทียมจากพืช3d food printerplant-based meatextrusion-basedpowder bed fusionbinder jetting3d food printing