วัคซีนโควิด 19 มียี่ห้ออะไรบ้างที่ใช้ในไทย พร้อมวิธีเช็กประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง
วัคซีนโควิด 19 มียี่ห้อไหนบ้างที่คนไทยเคยใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมแนะนำวิธีเช็กประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง
แม้โรคโควิด 19 ยังคงระบาดอยู่เรื่อยๆ ไม่จางหายไปไหน แต่ความรุนแรงจากอาการโควิดล่าสุด ปี 2567 กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยมีภูมิคุ้มกัน COVID-19 กันแล้วจากการติดเชื้อในรอบแรกๆ รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปหลายเข็มเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิต วันนี้เราลองมาย้อนกันว่าวัคซีนโควิด 19 ที่นำมาใช้ในประเทศไทย มีประเภทใดบ้าง และตัวเราเคยฉีดวัคซีนยี่ห้อไหน
วัคซีนโควิดในไทยมีอะไรบ้าง
วัคซีนโควิด 19 ที่คนไทยได้ใช้มีทั้งชนิดเชื้อตาย เชื้อไวรัสเวกเตอร์ที่แบ่งตัวไม่ได้ และชนิด mRNA ซึ่งผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย โดยชนิดที่นำมาใช้กันมากที่สุดในประเทศไทยจะมีอยู่ 5 ยี่ห้อ ดังนี้
1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) หรือ ChAdOx1 nCoV-19 vaccine ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ของสหราชอาณาจักร เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ที่แบ่งตัวไม่ได้ (Viral vector vaccine) กล่าวคือ ใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกมาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีต่อโรคโควิด 19
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา สำหรับในประเทศไทยนั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นวัคซีนหลักชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในช่วงแรกของการระบาด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันโดยรวม 70% ขึ้นไป โดยต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 8-12 สัปดาห์
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย แต่ก็มีรายงานในต่างประเทศว่าพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด 19 อยู่บ้างในสัดส่วนไม่มากนัก คือราวๆ 1 ต่อแสน ถึง 1 ต่อล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2567 แอสตร้าเซนเนก้า ได้ยอมรับเป็นครั้งแรกว่า วัคซีนโควิดของบริษัท หรือ โควิดชิลด์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ 60-80% แต่การวิจัยก็พบว่าวัคซีนอาจทำให้บางคนเกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำภายหลังฉีดวัคซีน หรือ Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome (TTS) ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยากมาก ทั้งนี้ ภาวะ TTS สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยอื่นๆ เช่นกัน ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด
ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเคยแจ้งเรื่องผลข้างเคียงมาตั้งแต่ในช่วงที่มีการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ขณะนี้มีการอนุญาตใช้โดยทั่วไปแล้ว โดยมีข้อมูลการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงนำมาปรับแนวทางการให้วัคซีนด้วยการแนะนำให้ฉีดในกลุ่มผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป และปัจจุบันประเทศไทยไม่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลงเหลืออยู่แล้ว
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งหมด 48 ล้านโดส โดย 1 คน ฉีด 2 โดส เท่ากับว่าจะมีผู้รับวัคซีนประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเข็มสุดท้ายที่ฉีดคือเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ขณะที่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะเกิดขึ้นหลังการรับวัคซีน 5-42 วันหลังฉีด ดังนั้น ถ้าเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นหลังจากนั้น ไม่น่าจะใช่อาการที่เกิดจากวัคซีน ประชาชนจึงไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันที่เข้าข่ายอาจเกิดจากวัคซีน 7 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย
2. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)
วัคซีนซิโนแวค หรือ Corona Vac พัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ประเทศจีน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ที่นำเชื้อไวรัสที่ตายแล้วมาฉีดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ถือเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานานในวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ จึงค่อนข้างปลอดภัย แต่กระบวนการผลิตค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา วัคซีนชนิดนี้จึงมักมีราคาแพงกว่าวัคซีนชนิดอื่น
องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติให้นำวัคซีนซิโนแวคมาใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ขณะที่ในประเทศไทยนั้นนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาใช้เป็นวัคซีนป้องกันโควิด 19 เป็นชนิดแรก และเริ่มฉีดในคนกลุ่มเสี่ยงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการประมาณ 65.3-91.25% (ผลการทดสอบแตกต่างกันในแต่ละประเทศ)
สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนแวคนั้นพบได้น้อย และมีอาการข้างเคียงเฉพาะที่น้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ โดยที่ผ่านมาเคยมีรายงานพบอาการข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น อาการเจ็บหน้าอก อ่อนแรง ชาครึ่งซีก แต่เป็นเพียงอาการชั่วคราวที่หายได้เอง
3. วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm)
วัคซีนซิโนฟาร์ม หรือ BBIBP-CorV ผลิตโดยบริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ประเทศจีน ซึ่งเป็นเครือรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มีชื่อทางการค้าคือ COVILO เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายเช่นเดียวกับซิโนแวค ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 จากนั้นทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้นำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อฉีดให้กับคนทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2564 โดยต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 28 วัน มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 79%
ขณะที่ผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนฟาร์มพบได้น้อยเช่นเดียวกับวัคซีนซิโนแวค เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น
4. วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)
วัคซีนไฟเซอร์ หรือ BNT162b2 ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทไบออนเทค (BioNTech) ของเยอรมนี เป็นวัคซีนชนิด mRNA โดยการสังเคราะห์สารพันธุกรรมเลียนแบบเชื้อไวรัสขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) เหมือนไวรัสโคโรนา ได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นับเป็นวัคซีนโควิดชนิดแรกของโลกที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองใช้ในกรณีฉุกเฉิน
สำหรับในประเทศไทย ทาง อย. ได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และนำมาฉีดให้กับประชาชนทั่วไป 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 21-28 วัน พบว่ามีประสิทธิภาพสูงถึงประมาณ 90% ซึ่งสูงกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ
ส่วนเรื่องผลข้างเคียงนั้นคล้ายกับการฉีดวัคซีนทั่วๆ ไป เช่น รู้สึกปวด-บวมบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีไข้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานอยู่บ้างว่าพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
นอกจากนี้ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของต่างประเทศ ยังพบว่า มีโอกาส 1 ใน 10 ที่วัคซีนไฟเซอร์จะไม่สร้างโปรตีน spike แต่กลับเบี่ยงเบนไปสร้างโปรตีนชนิดอื่น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและการแพ้ภูมิตนเองได้ สิ่งนี้เกิดจากความผิดพลาดของการแปลรหัสพันธุกรรม
5. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)
วัคซีนโมเดอร์นา หรือ mRNA-1273 พัฒนาขึ้นโดยบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยร่วมมือกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ และสำนักงานวิจัยและพัฒนาชีวเวชภัณฑ์ชั้นสูงสหรัฐฯ เป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนของไฟเซอร์ โดยนำสารพันธุกรรมของโควิด 19 ที่สร้างโปรตีนส่วนปุ่มหนามมาสังเคราะห์เป็นรหัสคำสั่ง S-spike mRNA เมื่อฉีดเข้าไปจะทำให้ร่างกายผลิตโปรตีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา จึงมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง คือป้องกันการติดโรคในคนทั่วไปได้มากกว่า 90%
องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนโมเดอร์นาในเดือนเมษายน 2564 และทาง อย. ประเทศไทย ได้ขึ้นทะเบียนในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยในช่วงแรกโรงพยาบาลเอกชนได้เปิดให้คนที่สนใจลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนได้แบบมีค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องฉีดจำนวน 2 เข็ม แต่ละเข็มมีระยะห่างกัน 28 วัน ก่อนที่ภายหลังจะมีบริการให้ฉีดฟรี
สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนโมเดอร์นาไม่ต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ โดยมีอาการเจ็บและแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งสามารถหายได้เอง นอกจากนี้ยังมีรายงานพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอยู่บ้างเช่นกัน แต่มีจำนวนไม่มากนัก และยังคงต้องติดตามโอกาสของการเกิดผลข้างเคียงต่างๆ เพิ่มเติม
ผลข้างเคียงของวัคซีนชนิด mRNA ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม
วัคซีนชนิด mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาเป็นวัคซีนที่พัฒนามาใหม่ นักวิจัยจึงยังคงเก็บข้อมูลและติดตามผลสืบเนื่องจากการใช้วัคซีนชนิดนี้ โดยมีรายงานถึงความกังวลออกมาอยู่บ้าง ดังเช่นที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและระบบประสาท ได้โพสต์ข้อมูลรายงานทางการแพทย์ของประเทศญี่ปุ่น พบว่า การฉีดวัคซีน mRNA มีความเชื่อมโยงกับอัตราตายสูงขึ้นอย่างผิดปกติของมะเร็งทุกชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน หลังจากประเทศญี่ปุ่นระดมฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นต้นไป และวัคซีนที่ได้รับนั้นเกือบ 100% เป็น mRNA คือเป็นไฟเซอร์ 78% และโมเดอร์นา 22%
สอดคล้องกับรายงานทางการแพทย์ของหลายๆ ประเทศที่พบว่า การเพิ่มปริมาณของวัคซีน mRNA และโมเลกุลของดีเอ็นเอที่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากอาร์เอ็นเอในเซลล์ (cytoplasm) จะสามารถเหนียวนำให้เกิดภาวะอักเสบด้วยตัวเองอย่างเรื้อรัง และนำไปสู่ภูมิคุ้มกันแปรปรวนต่อต้านตัวเอง จนกระทั่งถึงการทำลายดีเอ็นเอ และเกิดมะเร็งในมนุษย์ที่มีปัจจัยโน้มน้าวอยู่แล้วด้วย
ทั้งนี้ สำนักอาหารและยาของสหรัฐฯ เคยระบุอย่างชัดเจนมาก่อนว่า มีกลไกหลายอย่างที่เป็นไปได้ที่ DNA ที่ปะปนปนเปื้อนจะทำให้เกิดมะเร็ง รวมถึงการที่เข้าไปเสียบในดีเอ็นเอของมนุษย์และสั่งให้มีการสร้างยีนมะเร็ง (oncogenes) หรือมีการสอดใส่ ซึ่งทำให้มีการผันแปรทางรหัสพันธุกรรม (intentional mutagenesis)
สรุปจำนวนวัคซีนโควิดที่ฉีดในประเทศไทย
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าวัคซีนจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 - 10 มีนาคม 2566 มีการใช้วัคซีนโควิดทั้ง 5 ชนิด ตามจำนวนดังนี้
- อันดับ 1 วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 48,867,210 โดส
- อันดับ 2 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 48,718,241 โดส
- อันดับ 3 วัคซีนซิโนแวค จำนวน 26,547,240 โดส
- อันดับ 4 วัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 14,946,902 โดส
- อันดับ 5 วัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 7,678,963 โดส
อย่างไรก็ตาม นอกจากวัคซีนโควิด 5 ยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ยังมีวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เช่น วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ของสหรัฐอเมริกา, วัคซีนโควิด Bharat Biotech ของประเทศอินเดีย, วัคซีนโควิด Novavax ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ แต่ทั้งหมดไม่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย
ในขณะที่ประเทศไทยก็มีการผลิตวัคซีนขึ้นมาเองเช่นกัน อาทิ วัคซีนใบยา Baiya SARS-CoV-2 Vax ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม HXP-GPOVAC ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบ
วิธีเช็กประวัติการฉีดวัคซีนโควิด
สำหรับคนที่จำไม่ได้ว่าเคยฉีดวัคซีนโควิด 19 ชื่ออะไร ยี่ห้อไหน แล้วอยากทราบประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่แอปพลิเคชัน หมอพร้อม หรือที่ LINE OA หมอพร้อม โดยทำตามขั้นตอนนี้
- เพิ่มเพื่อนที่ LINE OA หมอพร้อม
- เลือกบัญชีผู้ใช้งานและบริการอื่นๆ
- กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อลงทะเบียนตามขั้นตอน
- เลือกใบรับรองโควิด 19
- จากนั้นจะปรากฏข้อมูลใบรับรองการฉีดวัคซีน ผลตรวจโควิด และประวัติการรักษา ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ว่าเราฉีดวัคซีนไปกี่เข็ม ยี่ห้ออะไร วันที่เท่าไร ณ สถานพยาบาลแห่งใด
หมายเหตุ : วัคซีน COMIRNATY คือ วัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่ของปี 2023 ที่เข้ารหัสโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.5
อย่างที่บอกไปว่า โควิด 19 ยังคงอยู่รอบตัวเรา และมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ทุกเมื่อที่เราประมาท ขาดการป้องกันตัว ดังนั้น เพื่อไม่ให้ป่วยโควิดซ้ำ อันจะนำไปสู่ภาวะลองโควิดที่กระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เราก็ยังจำเป็นต้องรักษาความสะอาด ล้างมือเป็นประจำ และหากเป็นไปได้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางไปสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เพื่อเซฟตัวเองให้ได้มากที่สุด
ที่มา: health.kapook.com/view280358.html
ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting
ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ
Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFeFacebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ
Golang for Beginners
Go หรือ Golang เป็นภาษาโปรแกรมมิ่งที่มีการพัฒนาโดย Google และถูกออกแบบมาเพื่อให้มีประสิ...
Elasticsearch and Kibana with .NET
ElasticSearch คือเครื่องมือค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลแบบกระจาย ที่มีพื้นฐานมาจาก Apache Lu...
Elasticsearch with Python
ElasticSearch คือเครื่องมือค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลแบบกระจาย ที่มีพื้นฐานมาจาก Apache Lu...
Kubernetes
Kubernetes หรือ K8s คือ Container Orchestration เป็น OpenSource จาก Google ที่จะมาช่วยใ...
Blazor WebAssembly with MongoDB
หลักสูตรนี้เนื้อหาจะเป็นการประยุกต์ใช้คำสั่งในการจัดการกับฐานข้อมูล NoSQL ที่ชื่อ Mongo...
Rust Programming
ภาษารัสต์เป็นภาษาโปรแกรมหลายกระบวนทัศน์สำหรับวัตถุประสงค์ทั่วไป ที่ถูกออกแบบมาเพื่อประส...
Golang for Beginners
Go หรือ Golang เป็นภาษาโปรแกรมมิ่งที่มีการพัฒนาโดย Google และถูกออกแบบมาเพื่อให้มีประสิ...
Elasticsearch and Kibana with .NET
ElasticSearch คือเครื่องมือค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลแบบกระจาย ที่มีพื้นฐานมาจาก Apache Lu...
Elasticsearch with Python
ElasticSearch คือเครื่องมือค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลแบบกระจาย ที่มีพื้นฐานมาจาก Apache Lu...
Kubernetes
Kubernetes หรือ K8s คือ Container Orchestration เป็น OpenSource จาก Google ที่จะมาช่วยใ...
Blazor WebAssembly with MongoDB
หลักสูตรนี้เนื้อหาจะเป็นการประยุกต์ใช้คำสั่งในการจัดการกับฐานข้อมูล NoSQL ที่ชื่อ Mongo...
Rust Programming
ภาษารัสต์เป็นภาษาโปรแกรมหลายกระบวนทัศน์สำหรับวัตถุประสงค์ทั่วไป ที่ถูกออกแบบมาเพื่อประส...
คำค้นหา : โควิด 19ปวดเมื่อยเนื้อตัวภูมิคุ้มกันวัคซีนโควิด 19วัคซีน mrnaผลข้างเคียงหมอพร้อมภาวะอักเสบไฟเซอร์แอสตร้าเซนเนก้า