อาการที่บอกว่าถึงเวลาต้องอัพเกรดโน้ตบุ๊กแล้ว

อาการที่บอกว่าถึงเวลาต้องอัพเกรดโน้ตบุ๊กแล้ว

หมวดหมู่: บทความทั่วไปTip & Technicข่าวไอที

6 อาการที่บอกว่า อาจถึงเวลาต้องอัพเกรดโน้ตบุ๊กคุณแล้ว

หลายครั้งการใช้งานโน้ตบุ๊กในแต่ละวันของคุณ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ซึ่งหากไม่ได้สังเกตอย่างจริงจัง บางเรื่องก็จะดูเหมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดา เช่น การทำงานช้าลงหรือเปิดโปรแกรมไม่เร็วเหมือนเดิม เกิดอาการกระตุกเมื่อดูหนังหรือเล่นเกมก็ตาม แต่ความจริงแล้ว อาจมีปัญหาบางสิ่งที่ซ่อนอยู่จนทำให้การใช้งานผิดปกติไป 

ดังนั้น การหมั่นสังเกตและทำความเข้าใจในอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากจะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการที่จะอัพเกรดโน้ตบุ๊กที่คุณใช้ได้อย่างคุ้มค่า ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อเครื่องใหม่ เพียงแค่อัพเกรดอุปกรณ์บางชิ้นส่วนลงไปใหม่ ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองการใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน แต่จะสังเกตอาการอย่างไรได้บ้างนั้น ไปดูกันครับ

1.ใช้เวลาบูตเข้าระบบนานเกินไป
อาการเปิดเครื่องช้า บางครั้งต้องรอเป็นนาทีกว่าจะเข้าใช้งานระบบปฏิบัติการได้ กรณีนี้เป็นไปได้ด้วยสองสาเหตุสำคัญคือ เรื่องของซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งลงในระบบ โดยเฉพาะโปรแกรมที่เปิดขึ้นมาพร้อมกับวินโดวส์ ในส่วนนี้สามารถเข้าไปดูได้ที่ Startup ภายใน Task manager และที่เกิดขึ้นจากฮาร์ดแวร์ เช่น ฮาร์ดดิสก์และแรม ที่อาจจะไม่สามารถตอบสนองได้ดีเหมือนเดิม อาจเกิดจากการอ่านข้อมูลที่ช้าเกินไปของฮาร์ดดิสก์ที่เป็นจานหมุน (HDD) จากความเร็วรอบที่ช้าของโน้ตบุ๊กอยู่แล้ว บางครั้งใช้งานมานานและเริ่มเสื่อมสภาพ อ่านและเขียนข้อมูลได้ไม่ดี นอกจากนี้ด้วยแรมที่มีอยู่น้อยเกินไป ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เปิดเครื่องเข้าระบบได้ช้าลงเช่นกัน สืบเนื่องจากบางครั้งลงโปรแกรมมากไป หรือเปลี่ยนระบบปฏิบัติการใหม่ มีการเรียกใช้แรมมากขึ้น แรมเดิมที่มีอยู่อาจไม่พอ

การแก้ไขในเบื้องต้น เริ่มจากการที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ให้น้อยลง เลือกที่สำคัญแล้วเข้าไปดูที่ Startup แล้วเลือกปิดซอฟต์แวร์บางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องบูตขึ้นมาพร้อมกับวินโดวส์ โดยยังไม่ต้องเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ ยกเว้นว่าฮาร์ดดิสก์ลูกที่ใช้เกิดเสียหายหรือติด Bad sector และมีผลต่อการบูตเครื่อง ก็จำเป็นต้องเปลี่ยน ด้วยการเลือกฮาร์ดดิสก์จานหมุนแบบเดิม หรือจะเปลี่ยนเป็น SSD เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้นไปด้วย

2.โปรแกรมไม่ไหลลื่นเหมือนเดิม
อาการนี้เกิดขึ้นได้จากแรมที่มีอยู่ไม่เพียง พอสำหรับเกมที่ติดตั้งลงไปได้ หรืออาจจะพอดีเกินไป รวมถึงข้อมูลในฮาร์ดดิสก์เยอะเกินไปจนไม่เหลือพื้นที่ในการใช้งาน ก็มีส่วนทำให้การเปิดโปรแกรมต่าง ๆ ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร เพราะบางโปรแกรมอาศัยพื้นที่ในการ Swap file หากมีน้อยไปก็เกิดการกระตุกเวลาใช้งานได้เช่นกัน

การแก้ไข ก็อาจจะต้องเริ่มต้นเลือกใช้โปรแกรมให้เหมาะสม อาจจะเลือกโปรแกรมที่ทำงานคล้ายกัน แต่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า หรือเลือกอัพเกรดแรม ด้วยการเลือกแรมที่มีความจุมากขึ้น หรือถ้าให้ดีเปลี่ยนแรมยกชุด ด้วยการใส่ทั้ง 2 สล็อต ให้ทำงานในแบบ Dual-channel ที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้นอีก 20% ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้รองรับหรือไม่ อีกทางหนึ่งก็คือ เลือกเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ลูกใหม่ หรือใส่ SSD เพื่อให้โหลดโปรแกรมและไฟล์ขนาดใหญ่ได้เร็วขึ้น

3.โหลดเข้าเกมช้า พื้นที่ติดตั้งเกมเริ่มไม่พอ
กรณีนี้มีโอกาสทั้งแรมน้อยและฮาร์ดดิสก์ช้า เมื่อเจอกับการโหลดไฟล์ของเกมขนาดใหญ่ ทำให้การเข้าสู่เกมช้าลงไปด้วย แรมช้าเกินไปหรือมีความจุไม่พอต่อการรับโหลดไฟล์เกม จนต้องอาศัยพื้นที่บนฮาร์ดดิสก์ในการ Swap file ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อฮาร์ดดิสก์ที่ใช้ช้าอยู่แล้ว ก็ย่อมส่งผลต่อเนื่องกันอัตโนมัติ ดังนั้นจึงสังเกตได้ว่า ในช่วงที่ไม่ได้มีการเปิดโปรแกรมอื่นใด หรือเปิดแค่เกมเพียงอย่างเดียว ระบบก็มักจะโหลดเกมได้เร็วขึ้น

การแก้ไขคือ นอกจากจะต้องเคลียร์พื้นที่ให้มีแรมเหลือเพียงพอต่อการใช้งาน แต่ถ้ายังไม่พอ ก็ต้องอัพเกรดแรมเพิ่ม ด้วยการเพิ่มแรมใหม่ให้มากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว จากแรมที่มีอยู่เดิมหรือเปลี่ยนให้มีความเร็วมากขึ้นและทำงานในแบบ Dual-channel หรือเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ในแบบ SSD มาใช้ แต่ถ้างบประมาณน้อย อาจเลือกฮาร์ดดิสก์จานหมุนความเร็ว 7200rpm หรือ SSHD มาใช้ ก็จะช่วยในการเล่นเกมได้ดีขึ้น

4.เปิดเว็บบราวเซอร์แล้วกระตุก ไม่ลื่นเท่าที่ควร
อาการเช่นนี้มักจะบอกถึงขนาดของแรมไม่พอต่อการใช้งาน เพราะถ้าสังเกตการทำงานจาก Task manager เมื่อเปิดหน้าเว็บจำนวนมาก จะเห็นได้ว่ามีการดึงทรัพยากรแรมใช้มากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเปิดหน้าเว็บเยอะ ๆ แล้วจะกระตุก อย่างไรก็ดี บางครั้งไม่จำเป็นต้องเปิดหลายหน้า แต่เปิดหน้าที่มีรูปภาพหรือกราฟิกจำนวนมาก ก็ส่งผลต่อการทำงานได้เช่นกัน

การแก้ไขคือ เบื้องต้นอาจจะใช้วิธีเปิดเฉพาะเว็บไซต์ที่จำเป็นหรือต้องใช้เท่านั้น แต่ถ้าต้องการให้ลื่นขึ้น ก็ใช้วิธีการอัพเกรดแรมให้เพิ่มขึ้นจากเดิม จะเพิ่มจากชุดเดิมที่มีหรือเปลี่ยนใหม่ก็ได้ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้การเปิดหน้าเว็บจำนวนมากทำได้คล่องตัวกว่าเดิม และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก

5.แบตเตอรี่เก็บไฟได้ไม่นาน
อาการนี้เกิดขึ้นจากแบตฯ เดิมเริ่มเสื่อมหรือไม่สามารถเก็บประจุได้ดีเหมือนเดิม เช่น จากที่เคยใช้ได้ 4-5 ชั่วโมง แต่กลับใช้งานได้แค่ 2-3 ชั่วโมงในปัจจุบัน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการชาร์จ อายุของแบต การจัดเก็บ และอุณหภูมิ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่โน้ตบุ๊ก ที่พบได้ในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งหากขาดการดูแล เช่น เก็บไว้ในสภาวะที่มีความร้อนสูง เช่น วางในรถ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการที่ลดทอนการเก็บไฟของแบตโน้ตบุ๊กได้เช่นกัน

การแก้ไขคือ นอกจากการรักษาหรือปรับสภาพแบต ด้วยวิธี Calibrate แล้ว ก็ต้องปรับรูปแบบการทำงานของแบตด้วยการตั้งค่า Battery settings ให้เหมาะสม ด้วยการเข้าไปที่ Power options > Change Plan Settings เพื่อทำให้ประหยัดการใช้พลังงานให้มากขึ้น ก็จะช่วยยืดระยะการทำงานของแบตออกไปได้อีกทางหนึ่ง แต่ถ้าแบตนั้นเสื่อมสภาพจนเกินจะเยียวยา ก็คงต้องหาแบตใหม่มาเปลี่ยน ซึ่งบางรุ่นก็มีทางเลือกของแบตพื้นฐาน ความจุเท่ากับของเดิม หรือแบตที่มีความจุมากขึ้น เพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานกว่า

6.เคลื่อนไหวในเกมไม่ได้ดั่งใจ
อาการนี้เรียกว่าเป็นปัญหารบกวนอย่างมาก โดยเฉพาะคอเกม เพราะบางครั้งเกิดขึ้นจากระบบโดยรวม ไม่ว่าจะเป็น แรม ซีพียู กราฟิกชิป หรือฮาร์ดดิสก์ก็มีส่วน จึงเรียกได้ว่าบางทีต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะอัพเกรดบางอย่างลงไปบนโน้ตบุ๊ก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือ การอัพเกรดเฉพาะสิ่งสำคัญบางอย่าง เช่น SSD และ RAM เพราะในเบื้องต้นสองสิ่งนี้จะส่งผลต่อการใช้งานระบบโดยรวม และอาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง หากไม่ได้เล่นเกมบนความละเอียดที่สูงเกินไปนัก เพราะไม่ต้องพึ่งแรมบนกราฟิกมากนัก อีกทั้งกราฟิกบนโน้ตบุ๊กยังพอไปไหว รวมถึงบางเกมอาศัยแรมและฮาร์ดดิสก์ในแบบส่งไฟล์เพื่อสร้างภาพขึ้นมา การมีแรมที่มีความเร็วสูงและจำนวนมาก ก็ช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง ส่วนถ้านอกเหนือจากนั้น คงต้องเปลี่ยนกราฟิกหรือซีพียู นั่นหมายถึงการเปลี่ยนเครื่องใหม่นั่นเอง

การแก้ไขคือ เบื้องต้นอาจลองปรับความละเอียดและ Quality ของภาพให้ลดลง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรระบบได้อย่างพอดี แต่ถ้าจะให้เพิ่มความเร็วในระดับแรก การเปลี่ยนไปใช้ SSD และแรมที่มีความจุมากขึ้น ก็จะช่วยให้จัดการออบเจ็กต์หรือรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงกราฟิกขนาดใหญ่ได้ไหลลื่นขึ้น ส่วนอีกทางที่พิเศษขึ้นก็คือ โน้ตบุ๊กบางรุ่นมาพร้อมเบย์พิเศษ ที่สามารถถอดออปติคอลไดรฟ์ออก แล้วใส่เป็นกราฟิกเพิ่มเข้าไป ทำงานในแบบ Dual GPU ได้ ก็ทำให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมดียิ่งขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร ซึ่งหากต้องเปลี่ยนทั้งหมดนี้ ก็อาจจะต้องมาพิจารณาดูว่าคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับการซื้อโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่มาทดแทน

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 4,281 ครั้ง

คำค้นหา : อัพเกรดโน้ตบุ๊กโปรแกรมซอฟต์แวร์เวลาบูตอาการเปิดเครื่องช้าวินโดวส์Startup Task managerฮาร์ดแวร์ฮาร์ดดิสก์แรมSwap file ไฟล์ขนาดใหญ่โหลดเข้าเกมช้า พื้นที่ติดตั้งเกมแบตเตอรี่ซีพียูกราฟิกชิป