ไม่อยาก “ตกงาน” เพราะ AI จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ไม่อยาก “ตกงาน” เพราะ AI จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

หมวดหมู่: บทความทั่วไป

ไม่อยาก “ตกงาน” เพราะ AI จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
AI (Artificial Intelligence) กลายเป็นสิ่งที่คนพูดกันมากขึ้นแทบทุกวงการ เพราะนับวันความฉลาดของ AI ก็เริ่มน่ากลัวมากขึ้นทุกที มันสามารถทำอะไรต่ออะไรที่ก่อนหน้านี้เราไม่คาดคิดว่ามันจะทำได้ ยิ่งถ้าเห็นความสามารถของ AI ในขณะนี้แล้ว สิ่งที่ใครหลายคนเป็นกังวลก็ใกล้ความจริงมากขึ้นมาทุกที คือ AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ เร็วที่สุดก็ภายใน 5-10 ปีนี้ และคาดว่าจะแทนที่อย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่เกิน 20 ปี

ส่วนลักษณะงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูก AI เข้ามาแทนที่ คือ ลักษณะงานที่ทำแบบกิจวัตร ทำซ้ำ ๆ วน ๆ ทุกวันเพราะหัวใจการทำงานของ AI คือการที่ผู้ใช้ใส่ข้อมูลให้มาก ๆ ในหลากหลายรูปแบบจนมันสามารถเรียนรู้ที่จะทำงานในลักษณะนั้นได้ เมื่อมันเรียนรู้แล้ว ก็จะทำวนไปตามรูปแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ นั่นเอง

เพราะฉะนั้น หากไม่อยากโดน AI แย่งงานจนกลายเป็นคนตกงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้วล่ะก็ เราควรที่จะต้องปรับตัว แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ Tonkit360 มีคำแนะนำ

1. เตรียมตัวรับมือ
เป็นความคิดที่พื้นฐานที่สุดแล้ว เพราะทุกวันนี้ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเรื่องที่จะรู้เฉพาะคนที่มีการศึกษาสูง ๆ อีกต่อไป เนื่องจากคนกลุ่มแรก ๆ ที่จะถูก AI แย่งงาน คือแรงงานฝ่ายผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แม้จะฟังดูสิ้นหวังแต่เราต้องไม่หมดหวัง ในเมื่อเราก็พอจะรู้แล้วว่า AI ฉลาดมากแค่ไหน และในอนาคตจะต้องฉลาดขึ้นอีกแน่นอน ถ้าประเมินรอบด้านแล้วรู้ว่ายังไงก็สู้เทคโนโลยีตัว AI ไม่ได้ คงต้องมองหาลู่ทางใหม่ หรือเตรียมแผนสำรองไว้ว่าถ้าวันใดเกิดตกงานขึ้นมากะทันหันจะทำอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังพอมีเวลาให้คิดวางแผน จะได้ไม่จวนตัวนัก

2. เรียนรู้ที่จะทำงานกับ AI
เมื่อประเมินความสามารถของตนเองแล้วพบว่าตัวเองยังเอาตัวรอดในยุคที่ AI ครองเมืองได้อยู่ จะดีกว่าไหมถ้าเราจะพยายามขึ้นอีกนิดเพื่อให้ทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างสงบสุข พูดง่ายก็คือ ไหน ๆ ก็คงห้ามบริษัทไม่ให้เอา AI มาทำงานไม่ได้ ก็ใช้ประโยชน์จาก AI เสียเลย

จากการศึกษาของ Carl Benedikt Frey และ Michael A. Osborne นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกล่าวว่า ข้อจำกัดของ AI ที่ยังทำงานแทนคนในระยะเวลาอันใกล้นี้ไม่ได้ คือ งานที่ใช้ความละเอียดทางประสาทและการมองเห็น งานที่ใช้ความสร้างสรรค์ความประณีต และงานที่ใช้ความฉลาดทางสังคม ในเมื่อเรารู้แล้วว่า AI ทำอะไรได้ไม่ได้ ก็ใช้ความสามารถของตนเองไปเติมเต็มจุดด้อยของมันซะ อย่างน้อย ๆ เราก็ยังพอทำงานเป็นคู่หูกับ AI ได้

3. พัฒนาทักษะและความสามารถ
ถึง AI จะฉลาด แต่ AI ก็เกิดขึ้นมาเพราะสติปัญญาของคน ฉะนั้น ยังไม่สายที่จะพัฒนาตัวเอง ถึงจะฉลาดเท่าหรือมากกว่าไม่ได้ (เพราะเป็นไปได้ยาก) แต่ก็ยังจะมีประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าคนที่ไม่คิดจะปรับตัวอะไรเลย ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดในปีนี้ ก็คือตลาดแรงงานได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งผลพวงจากโรคระบาดที่หลายคนต้องพักการทำงาน แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็ไม่ได้หยุดพัฒนา และพร้อมที่จะขึ้นมามีบทบาทแทนมนุษย์ในอนาคตอันใกล้

อีกทั้งการแข่งขันระหว่างธุรกิจในปัจจุบันก็ค่อนข้างสูง เพราะต่างก็ต้องพยุงให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอด การลดต้นทุนเป็นสิ่งแรกที่องค์กรจะทำ ทำให้บุคลากรที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดก็เสี่ยงตกงานสูง จึงจำเป็นที่เราควรจะพัฒนาทักษะความสามารถของตนเอง อย่างน้อยก็ควรจะพัฒนาในสิ่งที่ตนเองชอบหรือถนัดให้ได้บ้าง เช่น ทักษะทางภาษาที่ 2 ที่ 3 ทักษะทางเทคโนโลยี (จะได้ใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับ AI ได้) ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (เพราะ AI ไม่มีสังคมเหมือนมนุษย์) ทักษะในการคิดวิเคราะห์ การรับมือปัญหาที่ซับซ้อน เป็นต้น

4. ฝึกทำอะไรให้ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง
เป็นปกติขององค์กร ที่ในใจลึก ๆ เขาก็อยากให้บุคลากรทำงานได้มากกว่า 1 อย่าง ต้องไม่ลืมว่านี่คือการทำธุรกิจ ที่แต่ละองค์กรต่างก็ต้องแสวงหาผลกำไร การจ้างงานคนก็ย่อมต้องการผู้ที่จ้างแล้วคุ้มที่สุด นั่นแปลว่าบุคลากรที่เงินเดือนค่อนข้างสูง บริษัทอาจคาดหวังว่าควรจะทำอะไรได้มากกว่าหน้าที่ประจำ อย่างน้อยก็เพิ่มมาอีกสักอย่างสองอย่าง จะได้ไม่ต้องจ้างบุคลากรเพิ่มเพื่อลดต้นทุน เพราะการที่บริษัทต่าง ๆ นำ AI มาใช้กับธุรกิจก็เพื่อลดกำลังคน

เนื่องจาก AI เป็นเทคโนโลยีที่ลงทุนแค่ครั้งเดียวแต่สามารถใช้งานได้หลายปี AI และไม่มีปากมีเสียง ในขณะที่แรงงานคนต้องจ่ายค่าจ้างทุกเดือน ทั้งประสิทธิภาพการทำงานของคนก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่แน่นอน ตามสภาวะจิตใจและสภาพแวดล้อม ทั้งยังจะมีปัญหากับการทำงานร่วมกับผู้อื่น นั่นหมายความว่า AI สามารถทำงานได้คุ้มทุนและรักษามาตรฐานการทำงานได้ดีกว่าแรงงานคน

5. ฝึกใช้ความคิดให้มาก ๆ
อย่างที่บอกว่าข้อได้เปรียบที่มนุษย์มีเหนือกว่า AI คือการทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดทางประสาทและการมองเห็น งานที่ใช้ความสร้างสรรค์ และงานที่ใช้ความฉลาดทางสังคม ถึง AI จะฉลาดมาก แต่ AI ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก มันทำงานตามคำสั่งที่เราป้อนเข้าไป ดังนั้น งานอะไรก็ตามที่ยังต้องใช้อารมณ์ความรู้สึก ใช้ความละเอียดรอบคอบ ใช้สมองสร้างสรรค์อย่างซับซ้อน งานที่มีประสิทธิภาพสูง ๆ หรือการแก้ไขปัญหาแปลก ๆ ยังมีแค่มนุษย์ที่ (ศักยภาพสูง) ทำได้ คนกลุ่มนี้จึงมีโอกาสที่จะไปต่อได้อีกนานพอสมควร เพราะ AI ยังทำหน้าที่วิเคราะห์ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งแทนคนไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา:

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th

แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ

user
โดย เอ็นโอไอ ไอทีจีเนียส
เข้าชม 1,423 ครั้ง

คำค้นหา : artificial intelligenceเทคโนโลยีตัว aiงานที่มีความเสี่ยงสูงงานที่ทำแบบกิจวัตรหัวใจการทำงานของ aiแรงงานฝ่ายผลิตเตรียมแผนสำรองทำงานร่วมกับ aiประโยชน์จาก ai