รวมไอเดียการนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นตัวช่วยลดปริมาณขยะและเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับของเหลือใช้ไปพร้อมกัน
ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลายคนทั่วโลกเป็นกังวล ปัจจุบันมีหลายองค์กรออกแคมเปญรณรงค์ให้ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกกันอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดห้างสรรพสินค้า ร้านค้าใหญ่ และร้านสะดวกซื้อหลายแห่ง ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศนโยบายงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อดำเนินการตามแผนการจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ. 2561-2573 ที่วางไว้
ขวดพลาสติกเป็นขยะที่ถูกพบในขยะที่นำมาทิ้งค่อนข้างมาก แต่ขวดพลาสติกสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปประดิษฐ์เป็นของใช้ในบ้านได้ด้วย เราสามารถนำขวดพลาสติกไปแปรรูป และใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ตามมาดูกัน
สถานการณ์และประเภทของพลาสติก
ถึงแม้พลาสติกจะคงสภาพอยู่นานและย่อยสลายยาก แต่อายุการใช้งานจริงกลับสั้นมาก จึงทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในรายการสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 ของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกมากถึงปีละ 2 ล้านตัน ส่วนใหญ่หรือประมาณ 1.5 ล้านตัน เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งและยากต่อการกำจัด เช่น ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว รวมถึงแก้วและหลอดพลาสติกต่าง ๆ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 0.5 ล้านตัน เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น ขวดพลาสติกต่าง ๆ โดยหลักการคัดแยกพลาสติกว่าจะนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ หรือนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง สามารถสังเกตได้จากประเภท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้
1. เทอร์โมเซตติ้งพลาสติก
เทอร์โมเซตติ้งพลาสติก (Thermosetting Plastic) หรือพลาสติกที่คงรูปถาวร เป็นพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยความร้อน เมื่อไหร่ที่แข็งตัวแล้วจะไม่สามารถหลอมเหลวได้อีก จึงทำให้นำกลับมารีไซเคิลใหม่ไม่ได้ เช่น เมลามีน (Melamine) อีพ็อกซี (Epoxy) และยูรีเทน (Urethane) เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ยังใช้เวลาในการย่อยสลายนานนับร้อยปี อีกทั้งยังกำจัดยาก ต้องใช้เตาเผาพิเศษที่มีอุณหภูมิสูง 1,300 องศาเซลเซียลเท่านั้น ก็เลยทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้นตามไปด้วย
2. เทอร์โมพลาสติก
เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) หรือพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยความร้อน จะอ่อนตัวเมื่อได้รับความร้อน และจะแข็งตัวเมื่อได้รับความเย็น จึงทำให้เป็นพลาสติกที่ไม่คงรูปถาวรและสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ มีทั้งหมด 7 ชนิด คือ
-
PETE หรือ PET (Polyethylene Terephthalate)
-
HDPE (High Density Polyethylene)
-
PVC (Polyvinyl Chloride)
-
LDPE (Low Density Polyethylene)
-
PP (Polypropylene)
-
PS (Polystyrene)
-
Other (พลาสติกอื่น ๆ)
อ่านเพิ่มเติม : 7 ประเภทพลาสติก ใช้แล้วควรแยกก่อนทิ้ง เพราะเอาไปรีไซเคิลต่อได้
นอกเหนือจากการนำพลาสติกกลับไปรีไซเคิลแล้ว เราทุกคนยังสามารถนำพลาสติกกลับมาอัพไซเคิลได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “ขวดพลาสติก” ที่สามารถแปรรูปเป็นของใช้ในบ้านและของตกแต่งบ้านได้อย่างหลากหลาย ที่สำคัญทำง่าย สวยเก๋ มีสไตล์ รับรองดีงามไม่แพ้สินค้าราคาแพงเลยทีเดียว
การนำขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นของใช้
ตัวอย่างการนำขวดพลาสติกกลับมาอัพไซเคิล หรือกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีดังนี้
1. กระถางปลูกต้นไม้
ข้อมูลและภาพจาก cravingsomecreativity
อุปกรณ์
- ขวดพลาสติก
- สีเพนต์แก้ว
- ไม้บรรทัด
- กรรไกร
วิธีทำ
1. ทำความสะอาดขวดพลาสติกให้เรียบร้อย แกะเอาฉลากติดผลิตภัณฑ์ออก และเช็ดคราบกาวให้เกลี้ยง
2. หลังจากนั้นกะความสูงของกระถางที่ต้องการ แล้ววาดเส้นรอบขวดพร้อมกับหูสัตว์ที่ต้องการลงไป
3. เสร็จแล้วก็นำกรรไกรมาตัดตามเส้น
4. เจาะรูที่ก้นขวดเพื่อทำเป็นช่องระบายน้ำ
5. ทาสีซ้ำลงไป ประมาณ 2-3 ชั้น เสร็จแล้วก็วาดลวดลายหรือหน้าสัตว์ตามความชอบได้เลย
2. โคมไฟ
ข้อมูลและภาพจาก muminthemadhouse
ข้อมูลและภาพจาก muminthemadhouse
อุปกรณ์
- ขวดพลาสติกพร้อมฝา
- สายไฟหรือเทียนไฟ LED
- ปากกามาร์กเกอร์คละสี
- ไขควงสำหรับเจาะรู
- คัตเตอร์
- กรรไกร
- ลูกปัด
- ลวด
วิธีทำ
1. นำปากกามาร์กเกอร์มาระบายให้ทั่วขวด จะคละสีอย่างไรก็ได้ จะไล่ระดับเป็นชั้นก็ดี กรีดขวดเป็นเส้นตรงแนวตั้งรอบทิศ โดยให้กรีดแค่บริเวณกลางขวด
Tips : ใช้คัตเตอร์เจาะลงไปก่อน แล้วตามด้วยกรรไกรเพื่อความสะดวก ถ้าหากใครอยากให้ระยะห่างของแต่ละเส้นเท่ากัน ก็สามารถนำไม้บรรทัดมาวัดแล้วจุดเป็นแนวไว้ก่อนก็ได้
2. เมื่อตัดเสร็จเรียบร้อยให้กดบีบปากขวดลงมาเล็กน้อย แล้วจับจีบตรงกลางของแต่ละแถบให้เป็นรอยพับ
3. นำฝามาเจาะรู 2 รู พร้อมสอดลวดเข้าไป มัดให้แน่นเพื่อทำเป็นห่วง แล้วนำลวดอีกเส้นมาร้อยลูกปัดตามสะดวก พร้อมทั้งเว้นปลายไว้ทำห่วงด้วย
4. สอดสายไฟหรือเทียนไฟลงไปในขวด ให้กดปากขวดลงมาจนเกือบสุด ตามด้วยหย่อนสายไฟหรือเทียนไฟลงไป เสร็จแล้วก็ปล่อยปกติพร้อมปิดฝา เท่านี้ก็นำไปห้อยแขวนได้ทั้งในบ้านและนอกบ้านเลย
3. ชั้นวางเครื่องประดับ
ข้อมูลและภาพจาก Maison ZiZou
ข้อมูลและภาพจาก Maison ZiZou
อุปกรณ์
- ขวดพลาสติก
- หลอดดูดน้ำ
- ปืนกาวร้อน
- กลิตเตอร์
- ไหมพรม
- คัตเตอร์
- กาว
วิธีทำ
1. นำขวดพลาสติกไซซ์ไหนก็ได้จำนวน 3 ขวด มาตัดเอาบริเวณก้นขวด โดยกะขนาดให้มีความสูงพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป
2. ทากาวให้ทั่วรอบนอกของก้นขวด แล้วจุ่มลงไปในกลิตเตอร์จนติดทั่วทั้งหมด นำไปวางคว่ำทิ้งไว้ เพื่อรอกาวแห้ง
3. ทากาวร้อนที่ปลายหลอดด้านหนึ่ง แล้วติดไหมพรมหรือเชือกลงไป จากนั้นพันให้ทั่วจนมาถึงปลายหลอดอีกด้านหนึ่ง แล้วทากาวร้อนที่ปลายหลอดอีกครั้ง
4. นำหมุดมาติดกาวแล้วใส่ปิดหัว-ท้ายหลอดไว้ทั้ง 2 ฝั่ง ทำขั้นตอนเดียวกันทั้ง 3 หลอด
5. หลังจากนั้นก็นำหลอดอันหนึ่งมายิงปืนกาวร้อนที่ด้านบน กลาง และล่าง โดยให้เว้นระยะห่างให้พอดีกัน เสร็จแล้วนำก้นขวดที่ตัดแต่งไว้มาติดเข้าไปตามแต่ละจุด จากนั้นก็นำอีกสองหลอดที่เหลือมาติดให้เสมอกัน เพื่อทำให้ชั้นวางเครื่องประดับสมดุลและแข็งแรงนั่นเอง
4. กล่องเก็บของ
ข้อมูลและภาพจาก repeatcrafterme
อุปกรณ์
- ขวดพลาสติก
- ปืนกาวร้อน
- สเปรย์สี
- กรรไกร
- เทปกาว
- ซิป
วิธีทำ
1. ตัดก้นขวดให้มีขนาดตามต้องการ จำนวน 2 ขวด และล้างน้ำทำความสะอาด พร้อมทั้งรอให้แห้งสนิท
2. พันเทปกาวด้านนอกเอาไว้เพื่อกันเปื้อน จากนั้นพ่นสีสเปรย์เข้าไปด้านในให้ทั่ว ให้พ่นหลาย ๆ ครั้งจนกว่าสีจะติดและทั่วถึง โดยรอให้สีแห้งแล้วค่อยพ่นซ้ำอีก 2-3 ครั้ง
3. แกะเทปกาวด้านนอกออก ตามด้วยยิงปืนกาวร้อนที่ปากขวดแล้วติดซิปลงไป ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนซิปติดรอบขวด
4. นำขวดที่ตัดไว้อีกขวดมาประกบเข้าด้วยกัน แล้วติดซิปอีกฝั่งด้วยวิธีการเดิม สำหรับคนที่อยากให้กล่องเก็บของสวยงาม
Tips : ควรเลือกใช้ซิปและสเปรย์สีเดียวกันจะดีที่สุด หรือถ้าหากใครอยากทำเป็นผลไม้ เช่น แอปเปิลหรือกีวี ก็สามารถนำกระดาษแข็งมาตัดเป็นก้านและใบ แล้วนำไปติดไว้ด้านบนของกล่องก็ได้ เท่านี้ก็มีกล่องเก็บของเป็นระเบียบง่าย ๆ แถมยังใช้เป็นกล่องของขวัญน่ารัก ๆ ได้ด้วย
5. ของเล่นเด็ก
ข้อมูลและภาพจาก handywithscissors
อุปกรณ์
- ขวดพลาสติก
- กระดาษกันน้ำ สติ๊กเกอร์กันน้ำ ปากกามาร์กเกอร์กันน้ำ
- ปืนกาวร้อน
- ฝาขวด
- แท่งไม้
- กรรไกร
วิธีทำ
1. นำกรรไกรมาตัดฝั่งด้านหนึ่งของขวดพลาสติกออก โดยกะให้เป็นบริเวณกลางขวดหรือตั้งแต่คอขวดไปจนถึงเกือบท้ายขวด
2. จากนั้นก็นำสติ๊กเกอร์กันน้ำไปตกแต่งตามใจชอบ ใครใช้กระดาษกันน้ำก็ให้ติดด้วยปืนกาวร้อน หรือใครจะใช้ปากกามาร์กเกอร์วาดลวดลายลงไปก็ยังได้ แล้วปิดฝาขวดให้สนิทเพื่อกันน้ำเข้า
3. ส่วนการทำเสาเรือ ให้ติดไม้ลงไปข้างในฝาขวดด้วยปืนกาวร้อน หลังจากนั้นก็ยิงปืนกาวร้อนด้านหลังฝาอีกที แล้วนำไปติดที่ฐานกลางเรือ สำหรับใบเรือก็ทำจากเศษกระดาษได้ตามใจชอบ รับรองสวยงาม ทนทาน เป็นของเล่นให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดีแน่นอน
6. ของตกแต่งบ้าน
ข้อมูลและภาพจาก handmadecharlotte
อุปกรณ์
- ขวดพลาสติก
- สีอะคริลิก
- แปรงทาสี
- ไหมพรม
- คัตเตอร์
- กรรไกร
- ปืนกาวร้อน
วิธีทำ
1. นำขวดพลาสติกหลาย ๆ ไซซ์ หลาย ๆ รูปทรงมาตัด หากเป็นขวดสี่เหลี่ยมก็สามารถตัดครึ่งแล้วตกแต่งปลายได้ตามใจชอบ แต่ถ้าเป็นขวดทรงกลมก็อาจจะใช้คัตเตอร์กรีดเป็นเส้นแนวตั้งบริเวณกลางขวด โดยให้เว้นระยะห่างแต่ละเส้นประมาณ ¾ นิ้ว กรีดให้รอบขวด และจับจีบตรงกลางแต่ละแถบให้เป็นรอยพับ
2. ทาสีด้านในขวดและวาดลายตามความชอบ จะทำเป็นเส้นตรง วาดลายจุด ลายดาว หรือทาสีทั้งขวดก็ได้ สำหรับคนที่อยากเพิ่มลูกเล่น ให้ยิงปืนกาวร้อนที่ขอบขวดแล้วใช้ไหมพรมตกแต่งเพิ่มเติมได้
3. รอจนแห้งแล้วเจาะรูด้านล่าง พร้อมทั้งสอดไหมพรมเข้าไปแล้วมัดให้เป็นปม แล้วผูกห่วงที่ปลายไหมพรมอีกฝั่งเพื่อทำเป็นที่แขวน แล้วนำทุกขวดมามัดจับกลุ่มรวมกัน นอกจากนี้ยังสามารถใส่หลอดไฟเข้าไปเพื่อทำเป็นโคมไฟได้อีกด้วย
7. กระเป๋า
ข้อมูลและภาพจาก Ire Heart Crafting
ข้อมูลและภาพจาก Ire Heart Crafting
อุปกรณ์
- ขวดพลาสติก
- ปากกามาร์กเกอร์
- ผ้าสักหลาด
- ปืนกาวร้อน
- แอลกอฮอล์
- คอตตอนบัด
- ไม้บรรทัด
- คัตเตอร์
- กรรไกร
- หัวแร้ง
- เทปใส
- เชือก
วิธีทำ
1. นำขวดพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 2 ขวด มาล้างทำความสะอาดและแกะฉลากออกให้เรียบร้อย
2. ตัดขวดแบบแบ่งครึ่งเอาเฉพาะทรงสี่เหลี่ยมหรือตั้งแต่คอขวดลงมา พร้อมทั้งนำกรรไกรตัดข้างขวดฝั่งหนึ่งออก แล้วนำไม้บรรทัดและปากกามาร์กเกอร์วัดจากขอบให้ห่างเข้ามา ½ นิ้ว ตัดแต่งทรงให้ตรงอีกครั้ง
3. นำปากกาทำจุดไว้ทุก ๆ ครึ่งนิ้วของขอบทั้งสามฝั่งที่ตัดออก แล้วใช้หัวแร้งเจาะลงไปตามจุด
4. เช็ดรอยปากกาให้เกลี้ยง โดยทำตามขั้นตอนเดียวกันนี้ทั้ง 2 ขวด
5. เสร็จแล้วนำขวดฝั่งที่ตัดออกมาประกบเข้าด้วยกัน พร้อมติดเทปใสเพื่อให้ง่ายต่อการร้อย หลังจากนั้นก็ร้อยเชือกไขว้เป็นรูปกากบาท โดยให้เริ่มจากตรงกลางของก้นขวดขึ้นมาจนถึงริมขวด แล้วแกะเทปใสออก มัดให้แน่น ผูกเป็นโบสวยงาม และทำแบบเดียวกันทั้ง 2 ด้าน
6. ยิงปืนกาวร้อนลงไปบนขอบกระเป๋า จากนั้นนำผ้าสักหลาดหนาประมาณ 1 นิ้ว มาพับครึ่งแล้วติดรอบขอบกระเป๋าให้ทั่ว เสร็จแล้วมาร์กจุดลงมาด้านล่างของขอบ โดยให้วัดจากด้านข้างแต่ละฝั่งเข้ามา 1 นิ้ว ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมกับเจาะรู
7. นำผ้าสักหลาดขนาด 1x20 นิ้ว มาพับแล้วสอดเข้าไปในรู ผูกเป็นปมด้านในกระเป๋า ส่วนปลายอีกฝั่งนำไปสอดอีกรูหนึ่ง พร้อมทั้งผูกเป็นปมเช่นเดียวกัน
8. ตกแต่งขอบด้านล่างด้วยการวาดวงกลมเล็ก ๆ ลงบนผ้าสักหลาดอีกผืน ตัดให้สวยแล้วนำไปยิงปืนกาวร้อน พร้อมทั้งติดให้รอบขวดก็จะเป็นอันเสร็จ
8. กระปุกออมสิน
ข้อมูลและภาพจาก ourkidthings
อุปกรณ์
- ขวดพลาสติก
- กระดาษ
- ลวดกำมะหยี่
- ลูกปัดสีชมพู
- ตาปลอม
- ปืนกาวร้อน
- กรรไกร
วิธีทำ
1. นำขวดมาล้างทำความสะอาดแล้วปล่อยให้แห้ง
2. เจาะตรงกลางขวดตามแนวยาว กว้างประมาณ ½ นิ้ว ยาวประมาณ 2 นิ้ว สำหรับทำเป็นช่องหยอดเงิน
3. นำกระดาษสีชมพูมาวัดให้มีขนาดพอดีกับตัวขวด โดยเว้นบริเวณหัว ก้นขวด และช่องหยอดเงินเอาไว้ จากนั้นทากาวแล้วติดกับขวดให้แน่นสนิท
4. ตัดกระดาษเป็นรูปหูและจมูก ติดลงไปบริเวณคอขวดและฝาขวด และติดตาปลอมลงไประหว่างกลางด้วย
5. นำลูกปัดติดลงไปใต้ท้องขวดเพื่อทำเป็นขา เสร็จแล้วนำลวดกำมะหยี่มาม้วนติดไว้ที่ท้ายขวดเป็นหาง เท่านี้ก็ได้กระปุกหมูไปหยอดเงินแล้ว
9. นำไปบริจาคเพื่อผลิตเป็นของใช้ต่าง ๆ
สำหรับคนไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกจะนำขวดพลาสติกมาอัพไซเคิลด้วยตัวเอง ก็สามารถรวบรวมและนำไปบริจาคเพื่อให้โครงการต่าง ๆ นำไปผลิตเป็นของใช้ที่มีประโยชน์ต่อไป เช่น เสื้อผ้า กางเกง หรือบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารได้ ทำเป็นผ้าไตรหรือผ้าบังสุกุลจีวร โดยขวดพลาสติก 15 ขวด สามารถนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยทอผ้าได้ 1 ผืน ใครสนใจอยากส่งต่อหรือบริจาคขวดพลาสติก ก็สามารถติดต่อได้ที่ วัดจากแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หรือ 10 สถานที่รับบริจาคของเหลือใช้ ลดของเสีย-ลดโลกร้อน กันที่นี่ได้เลย
นอกเหนือจากการนำขวดพลาสติกมาอัพไซเคิล บริจาคนำมาผลิตเป็นของใช้และของตกแต่งบ้านแล้ว ถ้าหากใครไม่ถนัดงานประดิษฐ์หรืออยากหารายได้เสริมในตัว ก็สามารถคัดแยกขยะและรวบรวมไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่าหรือธนาคารขยะแทนได้ รับรองเป็นการช่วยนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่ได้เช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.ธนิตา อารีรบ สาขาวิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
กรมควบคุมมลพิษ
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting
ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ
Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFeFacebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
คำค้นหา : 9 ไอเดียงานประดิษฐ์ขวดน้ำรีไซเคิลขวดพลาสติกกระถางพลาสติก