‘พลูโต’ถึง‘เคปเลอร์-452b’

‘พลูโต’ถึง‘เคปเลอร์-452b’

หมวดหมู่: บทความทั่วไป

จาก‘พลูโต’ถึง‘เคปเลอร์-452b’ ความสำเร็จจากห้วงอวกาศ 
จาก‘พลูโต’ถึง‘เคปเลอร์-452b’ ความสำเร็จจากห้วงอวกาศ เนื่องจากพลูโตมีวงโคจรเป็นวงรีไม่เหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ การส่งยานไปสำรวจพลูโต อาจเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่จะช่วยทำให้เรารู้ว่าระบบสุริยะและโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร

สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์ที่น่าตื่นเต้นในวงการดาราศาสตร์ ทั้งความสำเร็จในการไปเยือนดาวพลูโตเป็นครั้งแรกของยานสำรวจอวกาศ นิว ฮอไรซันส์ และพบว่าพลูโตไม่ได้เป็นดาวเคราะห์ที่ตายแล้วอย่างที่เราเข้าใจ แต่กลับเต็มไปด้วยร่องรอยทางธรณีวิทยา ตามมาติด ๆ ด้วยข่าวการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ “เคปเลอร์-452b” (Kepler-452b) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกมากที่สุดในขณะนี้

สำหรับ “พลูโต” ที่เคยถูกจัดเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะมานานถึง 62 ปี ก่อนที่จะถูกสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ จัดระเบียบการนิยามดาวเคราะห์ใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ทำให้ดาวพลูโตหลุดจากตำแหน่งดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ไปเป็นดาวเคราะห์แคระพลูโต เนื่องจากไม่ผ่านเงื่อนไขข้อที่ 3 ของดาวเคราะห์ คือการกำจัดวัตถุอื่นออกจากวงโคจร แต่ดาวพลูโต ก็ยังคงเป็นความใผ่ฝันของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกที่ต้องการไปเยือน เพราะเป็นวัตถุที่ใหญ่ที่สุดที่พ้นดาวเนปจูนออกไปและยังไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน

ดร.วิภู รุโจปการ” อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เนื่องจากพลูโตมีวงโคจรเป็นวงรีไม่เหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ การส่งยานไปสำรวจพลูโต อาจเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่จะช่วยทำให้เรารู้ว่าระบบสุริยะและโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งหลังจากวางแผนนานถึง 15 ปี โครงการยานสำรวจอวกาศ นิว ฮอไรซันส์ ( New Horizons ) ขององค์การนาซา จึงออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 มุ่งหน้าไปดาวพลูโตด้วยความเร็ว 16 กิโลเมตรต่อวินาที ด้วยข้อจำกัดด้านเชื้อเพลิงและงบประมาณ จึงออกแบบภารกิจให้เป็นแบบบินผ่าน (Flyby) เพื่อบันทึกภาพดิจิตอลและข้อมูลต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยยานดังกล่าวได้บินผ่านดาวพลูโตเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ใช้เวลาเดินทางนานถึง 9 ปี

นายมติพล ตั้งมติธรรม” เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. บอกว่า ยานนิว ฮอไรซันส์ สื่อสารกับโลกด้วยคลื่นวิทยุ X-band สัญญาณจากดาวพลูโตใช้เวลาถึง 4.5 ชั่วโมง ในการเดินทางมาถึงโลก เพราะยานอยู่ไกลออกไปถึง 4,770 ล้านกิโลเมตร ซึ่งข้อมูลชุดแรกที่นาซาได้รับและเผยแพร่ออกมาเป็นเพียง 1% ของข้อมูลทั้งหมด “การเยือนพลูโตครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นพื้นผิวของดาวพลูโตเป็นครั้งแรก และทำให้เราค้นพบอะไรต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับดาวพลูโต ทั้งองค์ประกอบของดาวพลูโต การค้นพบว่าดาวพลูโตมีชั้นบรรยากาศหนาถึง 1,600 กม. การค้นพบภูเขาสูงหลายกิโลเมตร แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับแวดวงวิทยาศาสตร์ก็คือ การได้ค้นพบว่าจริง ๆ แล้วดาวพลูโตไม่ได้เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตอย่างที่เราเข้าใจ แต่กลับเต็มไปด้วยทุ่งน้ำแข็งมีเทนและไนโตรเจน นี่เป็นการบ่งบอกว่ามีกระบวนการทางธรณีวิทยาบางอย่างที่คอยลบรอยอุกกาบาตของดาวพลูโตอย่างต่อเนื่อง

และล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นาซาได้เผยแพร่ภาพชุดใหญ่ที่เพิ่งได้รับมา มีภาพที่เกิดจากการเร่งสีที่ทำให้เห็นความแตกต่างของพื้นผิวแต่ละส่วนอย่างชัดเจน ภาพวงแหวนสว่างของดวงอาทิตย์ ที่ทำให้เห็นชั้นหมอกในบรรยากาศที่หนาถึง 130 กิโลเมตรจากพื้นผิว และภาพที่แสดงให้เห็นถึงชั้นน้ำแข็งในบริเวณทุ่งราบน้ำแข็งรูปหัวใจ ที่มีร่องรอยว่าเคยมีการเคลื่อนที่ หรือกำลังเคลื่อนที่อยู่ ซึ่งคล้ายกับการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งบนโลกของเรา ปัจจุบันเรายังมีข้อมูลที่มาจากยานสำรวจไม่ถึง 5 % คาดว่าเราจะทราบข้อมูลทั้งหมดที่ส่งมาก็เกือบปลายปีหน้า

สำหรับข่าวฮือฮาไม่แพ้พลูโตอีกข่าวหนึ่งก็คือ การประกาศยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะถึงกว่า 500 ดวงของทีมงานกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler) และหนึ่งในนั้นก็คือดาวเคราะห์ เคปเลอร์-452b ที่เป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกของเรามากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา

นายมติพล บอกว่า การค้นพบ ดาวเคราะห์เคปเลอร์-452b นี้ พิเศษตรงที่เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมาก และใหญ่กว่าโลกเพียงแค่ 60% นอกจากนี้ยังโคจรอยู่รอบดาว ฤกษ์ที่เป็นดาวฤกษ์ชนิด G2 เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ โดยระยะทางที่โคจรรอบดาวฤกษ์ยังใกล้เคียงกับระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์อีกด้วย ปัจจุบันมีหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่า ชีวิตสามารถถือกำเนิดและอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีลักษณะเช่นนี้ได้ หากมีองค์ประกอบและปัจจัยอื่น ๆ ที่พอเหมาะ แต่ปัจจุบันเรายังไม่มีวิธีที่จะทราบถึงองค์ประกอบใด ๆ หรือยืนยันว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีชีวิตอยู่หรือไม่ นายมติพล บอกอีกว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างจากโลกออกไปถึง 1,400 ปีแสง หากเดินทางด้วยความเร็วของยานสำรวจอวกาศ นิว ฮอไรซันส์ จะต้องใช้เวลาถึง 25 ล้านปี นั่นคือเราคงจะไม่สามารถไปเยือนดาวดวงนี้ได้ในเร็ววันนี้

ข้อมูลและการค้นพบใหม่ ๆ ที่ได้จากห้วงอวกาศเหล่านี้ จะไขปริศนาความลับของจักรวาลอะไรได้บ้าง เป็นที่ลุ้นกันต่อไป ไม่แน่ข้อมูลเหล่านี้อาจถึงขั้นต้องเขียนตำรากันใหม่ทีเดียว.

ที่มา:

 

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th
user
โดย Admin ITGenius
เข้าชม 4,297 ครั้ง

คำค้นหา : พลูโตมีวงโคจรเป็นวงรีไม่เหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่น สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์ที่น่าตื่นเต้นในวงการดาราศาสตร์ความสำเร็จในการไปเยือนดาวพลูโตเป็นครั้งแรกยานสำรวจอวกาศ นิว ฮอไรซันส์ พลูโตไม่ได้เป็นดาวเคราะห์ที่ตายแล้วอย่างที่เราเข้าใจ ข่าวการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ “เคปเลอร์-452b” (Kepler-452b)เป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกมากที่สุดในขณะนี้ ดาวพลูโต ก็ยังคงเป็นความใผ่ฝันของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกที่ต้องการไปเยือนเป็นวัตถุที่ใหญ่ที่สุดที่พ้นดาวเนปจูนออกไปและยังไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน