ภาษีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องรู้

ภาษีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องรู้

หมวดหมู่: บทความทั่วไปTip & Technic

ภาษีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องรู้


วันที่ 22 เมษายน 2567 อาชีพขายของออนไลน์ เป็นอาชีพที่หลายคนยึดเป็นอาชีพหลัก หรือมักเลือกเป็นอาชีพรองเพื่อสร้างรายได้อีกทาง เพียงแค่มีมือถือเครื่องเดียวและอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำงานได้แล้ว เริ่มต้นง่าย ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่นอกจากจะต้องหมั่นเติมความรู้ด้านเทคโนโลยี สิ่งที่ควรสนใจและให้ความสำคัญคือ เรื่องภาษี เพราะหากละเลย อาจต้องสูญเงินเป็นจำนวนมาก

หากไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท เงินได้จากการทำธุรกิจหรือการขายของออนไลน์นี้ถือเป็นเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่นภาษีในรูปแบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ในมาตรา 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่ 1-7 เช่น เงินที่ได้จากการทำธุรกิจ การขายอสังหาริมทรัพย์ การเกษตร เป็นต้น

ภาษีที่เกี่ยวข้องมี 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ไม่ว่าประเภทใด ชนิดใด ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นให้แล้วก็อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี

1.1 การยื่นภาษีครึ่งปี: นำเงินได้จากการขายของออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน มายื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94 หากเงินได้มากกว่า 60,000 บาท สำหรับผู้ที่เป็นโสด และเกิน 120,000 บาท กรณีมีคู่สมรส (มีเงินได้ฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน)​ โดยยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-30 กันยายน ในปีเดียวกัน ค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวจาก 30,000 บาท จะลดลงเหลือ 15,000 บาท

1.2 การยื่นภาษีปลายปี: นำเงินได้ทั้งหมดในช่วงปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 มกราคม-31ธันวาคม มายื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 ภายในวันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม ของปีถัดไป เช่น เงินได้ปี 2566 ทั้งปี ต้องยื่นภายในมีนาคม 2567 ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องยื่นภาษี 2 ช่วงเวลา

อัตราภาษีที่ต้องจ่าย คำนวณได้จากยอดขายหรือเงินได้พึงประเมิน หักด้วยค่าใช้จ่าย และหักด้วยค่าลดหย่อน จึงออกมาเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี ที่นำไปคำนวณภาษีตามขั้นบันได สามารถเลือกได้ว่าจะหักหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตรา 60%

หรือจะเลือกนำค่าใช้จ่ายจริงมาหักออกก็ได้ การหักค่าใช้จ่ายตามจริงต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย จัดเก็บทั้งหลักฐานต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วน เหมาะกับพ่อค้าแม่ค้าที่มีต้นทุนของสินค้าสูง ส่วนการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมามีข้อดี คือ ไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายแก่สรรพากร

ตัวอย่าง: คุณแอนมีรายได้จากการขายของออนไลน์ 520,000 บาท หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ก็เท่ากับหักค่าใช้จ่ายออกไปได้เลย 60% หรือ 312,000 บาท โดยไม่ได้สนใจว่าแท้จริงแล้วมีค่าใช้จ่ายถึง 312,000 บาท จริงหรือไม่ เมื่อนำเงินได้หักค่าใช้จ่ายจะเหลือ 208,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

และหากไม่มีค่าลดหย่อนภาษีอะไรเพิ่มเติมเลย ก็จะเหลือเงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณอัตราภาษีแบบขั้นบันไดที่ 148,000 บาท โดยเงินได้สุทธิที่ 150,000 บาทแรกจะได้รับยกเว้นภาษี นั่นคือ คุณแอนจะไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่างไรก็ตาม หากรายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1,000,000 บาทต่อปี ต้องนำรายได้มาคำนวณภาษีแบบเหมาในอัตรา 0.5% ด้วย เมื่อคำนวณแล้วให้นำภาษีที่ได้มาเทียบกับการคำนวณภาษีตามขั้นบันได (คำนวณเงินได้สุทธิ) แบบไหนเสียภาษีมากกว่าให้ใช้วิธีนั้น ซึ่งโดยมากการคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดจะเสียภาษีสูงกว่า

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายหรือการให้บริการและการนำเข้าสินค้าเมื่อพ่อค้าแม่ค้ามีรายได้จากการขายหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ยอดขายเกิน และต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ให้กรมสรรพากรทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป รวมถึงต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าด้วย  

เมื่อขายสินค้าราคา 1,070 บาท เป็นค่าสินค้า 1,000 บาท และ VAT 70 บาท ต้องนำส่งเงินจำนวน 70 บาทนี้ที่เรียกว่า “ภาษีขาย” ให้แก่สรรพากร และเงินจำนวน 1,000 บาทต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยทั่วไปพ่อค้าแม่ค้าจะมีต้นทุนหรือมีการซื้อสิ่งของสำหรับกิจการของตน เช่น หากซื้อสินค้า จำนวน 535 บาท (ค่าสินค้า 500 บาท + VAT 35 บาท) ภาษีจำนวน 35 บาท จะเรียกว่า “ภาษีซื้อ”

พ่อค้าแม่ค้าสามารถนำ VAT ที่จ่ายไป มาหักลบกับภาษีขายได้ หากมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ต้องนำส่งส่วนต่างนี้ ให้แก่กรมสรรพากร แต่หากภาษีขายเท่ากับหรือน้อยกว่าภาษีซื้อ แม้จะไม่มีภาระที่ต้องนำส่งภาษี แต่ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายเดือน

สำหรับพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ สิ่งที่ทำได้ง่ายตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย เก็บหลักฐานเอกสาร ใบเสร็จทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ทบทวนการทำธุรกิจของตนว่ามีต้นทุนอะไรบ้างเพื่อประเมินวิธีการหักค่าใช้จ่าย หากกิจการมีแนวโน้มจะไปได้ดี อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นนิติบุคคลหรือการจดบริษัท เพราะการคำนวณภาษีจะคำนวณจากกำไรสุทธิ และคิดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% ในขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณแบบขั้นบันไดอัตราสูงสุดอยู่ที่ 35%

การขายสินค้าออนไลน์ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้จนใครหลายคนสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่ถ้าละเลยเรื่องภาษี ถือว่าอันตรายมาก เพราะหากไม่เคยยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องเลย อาจถูกประเมินภาษีย้อนหลังได้ นอกจากต้องจ่ายภาษีที่ค้างชำระแล้ว สิ่งที่น่ากลัวคือบทลงโทษทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล จึงควรศึกษาหาความรู้เรื่องบัญชีและภาษี หรือปรึกษาผู้รู้ เพื่อจะได้ค้าขายหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างสบายใจ


ที่มา: prachachat.net/finance/news-1547322

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th

แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ

user
โดย Bella
เข้าชม 409 ครั้ง

คำค้นหา : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาตรา 40(8)ภาษีมูลค่าเพิ่มแม่ค้าออนไลน์ลดหย่อนภาษีvat 7%กำไรสุทธิโดนภาษีย้อนหลังกรมสรรพากรภาษีเงินได้นิติบุคคล