TARAD คาดเทรนด์ e-Commerce ไทยปีหน้า 2023 เดือดกว่านี้ !

TARAD คาดเทรนด์ e-Commerce ไทยปีหน้า 2023 เดือดกว่านี้ !

หมวดหมู่: บทความทั่วไป

TARAD คาดเทรนด์ e-Commerce ไทยปีหน้า 2023 เดือดกว่านี้ !

 

งาน Bok Teer – Beer Talk 2022 ในครั้งนี้ที่จัดขึ้นโดย คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชัน จำกัด และ บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด ภายใต้บรรยากาศที่เป็นกันเอง คุณป้อมได้เป็นวิทยากรขึ้นมาสรุปข้อมูลข่าวสารและเทรนด์ของ e-Commerce ในบ้านเราจะเป็นไปในทิศทางใดในปี 2023

คุณป้อมกล่าวว่า ในปี 2023 แนวโน้มของ e-Commerce ไทยจะเกิดความเปลี่ยนแปลง และมีความดุเดือดยิ่งกว่าเดิม ทั้งในด้านแพลตฟอร์มการให้บริการ เทคโนโลยี และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 12 เทรนด์

เทรนด์ที่ 1 มูลค่าการค้าออนไลน์ขยับขึ้นอีกครั้ง ตอบรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

จากรายงานมูลค่า e-Commerceในช่วงปี 2563 โดย ETDA ตัวเลขจะลดลงประมาณ 6.68% สาเหตุหลักเกิดจากตัวเลขของ e-Commerce ประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว การเดินทาง สายการบิน และการผลิตต่าง ๆ เมื่อมีการเเพร่ระบาดของโควิดจึงส่งผลทำให้ตัวเลขลดลง ฉะนั้นการที่ไทยเริ่มเปิดประเทศก็ทำให้ตัวเลขเริ่มฟื้นตัวกลับมา คาดการณ์ว่าในปี 2566 มูลค่า e-Commerce ของไทยน่าจะกลับเป็นบวกแบบเต็มที่ ประกอบกับโมเมนตัมของธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์เต็มรูปเเบบเเล้วในช่วงหลังโควิด จึงส่งผลให้อาจเกิดโตขึ้นแบบก้าวกระโดด

เทรนด์ที่ 2 สงคราม e-marketplace กำลังจะจบลง

หากมองภาพรวมของเจ้าตลาดอย่าง Lazada และ Shopee ก็ต้องบอกว่าเห็นสัญญาณว่าเริ่มเปลี่ยนจากการเน้นการเติบโตด้วยการลงเงินทุน มาเป็นการทำกำไรอย่างชัดเจน เช่น Lazada ในปี 64-65 สามารถทำกำไรได้แล้วเเละมีการใช้เงินในการทำการตลาดน้อยลง ในด้านของ Shopee แม้จะยังขาดทุนอยู่ แต่ตัวเลขลดลงมาเหลือ 280 กว่าล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุนประมาณ 1,800 กว่าล้านบาท เห็นได้ชัดว่า Shopee เน้นกลยุทธ์การทำกำไรมากขึ้น เริ่มจากการลดคน ถอนตัวจากประเทศที่ไม่ได้กำไร รวมถึงผู้บริการจะไม่มีการรับเงินเดือนจนกว่าสถานการณ์การเงินจะดีขึ้น เเละสิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประเด็น คือ งบประมาณในการทำการตลาดของ Shopee ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วง 11.11 ที่ผ่านมา

ส่วน JD Central ยังคงเป็นอันดับ 3 มีงบกำไรขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 1,200 กว่าล้านบาท แต่ก็เริ่มมีข่าวไม่เป็นทางการว่ากลุ่มเซ็นทรัลได้มีการถอนตัวออกจาก JD.com และในฟากของ JD ในประเทศไทยก็จะมีการถอนตัวจากตลาดประเทศไทยและอินโดนีเซีย เพราะมีการขาดทุนสูงถึงประมาณห้าหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ในปีหน้าคาดว่าสงคราม e-Marketplace กำลังจะจบลง แต่ละเจ้าจะเน้นทำกำไรมากขึ้น และไทยกลายเป็นสมรภูมิการเเข่งขันของต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมี e-Marketplace ของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในปี 64 มีมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว

เทรนด์ที่ 3 สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ

ผลต่อเนื่องจากเทรนด์ของ e-marketplace รายใหญ่ที่เป็นของต่างชาติ ทำให้สินค้าจีนไหลทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางรถ ทางราง ทางน้ำ อันจะเห็นได้ว่าผู้นำเข้าสินค้าจีนบางรายถึงกับตั้งโกดังสินค้าจีนเพื่อให้คนเข้ามาไลฟ์ขายของในพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพ

ซึ่งสินค้าที่ถูกนำเข้ามาก็มีหลากหลาย ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และยังมีบางส่วนที่ผิดกฎหมายที่เห็นได้ตามโลกออนไลน์ เช่น หลอดไฟฟ้า LED จากจีนที่ไม่มี มอก. อุปกรณ์การพนันต่าง ๆ ที่หาซื้อได้ใน e-marketplace หรือเครื่องสำอางที่สามารถหาซื้อได้โดยไม่มี อย. สินค้าเหล่านี้ส่งตรงเข้ามาจากจีน โดยไม่ผ่านมาตรการต่าง ๆ หรือไม่เสียภาษีด้วย ก็ทำให้มีต้นทุนถูกกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าในไทยเสียเปรียบ ไม่สามารถแข่งขันได้ ภาครัฐควรต้องควบคุมให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย

เทรนด์ที่ 4 On-Demand Commerce สงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น!

ถ้าพูดถึง On-Demand Commerce ที่ให้บริการในไทย เราก็จะคุ้นชื่อของ Grab,  LINE MAN x Wongnai, Food Panda, Robinhood หากลองสังเกตดูก็จะเห็นว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริการที่มากกว่าอาหาร หรือที่เรียกว่า Beyond Food เช่น Grab ที่มีบริการใหม่อย่าง เรียกแม่บ้าน หรือ Robinhood ที่กำลังเปลี่ยนตัวเองเป็น Super App ที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว และเรียกรถรับส่งด้วย จุดนี้เห็นได้ชัดว่ามีการขยายฐานบริการ e-Commerce มากขึ้น ซึ่งในปีหน้าตลาด On-Demand Commerce น่าจะเดือดแน่!

เทรนด์ที่ 5 การบุกของ DFS (Digital Financial Service)

สืบเนื่องจากการเติบโตของ e-Marketplace และ On-Demand Commerce เราจะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Grab, Shopee, Food Panda หรือ Lazada เริ่มมีการให้บริการทางการเงินให้กับคู่ค้า หรือคนที่มาซื้อของบนแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น ซึ่งบริการเหล่านี้ถูกเรียกว่า DFS หรือ Digital Financial Services บริการการเงินทางออนไลน์ จากผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกว่า non-bank

การบุกของ DFS (Digital Financial Service) ก็มีทั้งด้านที่ดีและด้านที่ส่งผลเสีย ด้านที่ดีคือทำให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงโอกาสในการจับจ่ายข้าวของเครื่องใช้ได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันด้วยความง่ายก็อาจก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลในเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

เทรนด์ที่ 6 สงคราม Short Video Commerce

อีกตลาดที่กำลังดุเดือดมากบนโลกออนไลน์คือ Short Video Commerce ที่ทั้ง TikTok, YouTube, Facebook เเละ Instagram ต่างก็กระโดดลงมาเเข่งขันกัน แม้แต่ Line ก็เอากับเขาด้วย ทำให้ช่วงหลัง ๆ เรามักจะเห็น Short video ที่มาพร้อมกับบริการขายของ e-Commerce

เทรนด์ที่ 7 โฆษณาออนไลน์ที่มีทางเลือกมากขึ้น

ในหลายปีที่ผ่านมา โฆษณาออนไลน์ที่เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ในการโปรโมต คือ Facebook แต่ปัจจุบันมีทางเลือกมากขึ้น เช่น TikTok ที่กำลังดูดี ในขณะที่ Facebook ได้ผลลัพธ์ที่น้อยลง แนวโน้มที่เกิดขึ้น คือ แบรนด์เเละผู้โฆษณาจึงเริ่มเปลี่ยนไปโฆษณาในโซเชียลอื่น ๆ อย่าง TikTok มากขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเสริมให้ลูกค้าขายของได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

เทรนด์ที่ 8 การตลาดผ่านการบอกต่อ

Affiliate Marketing หรือ การตลาดผ่านการบอกต่อ กำลังเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโต เพราะคนเริ่มเป็น Influencer มากขึ้น แบรนด์ก็เลยฝากให้เขาเหล่านั้นช่วยขายสินค้า ในขณะเดียวกันก็จะได้ส่วนเเบ่งจากการที่สามารถบอกต่อจนเพื่อนหรือผู้ติดตามเข้าไปสั่งซื้อ โดย TikTok เริ่มมีการผลักดันบริการ Affiliate Marketing ที่ใช้การบอกต่อมากขึ้น รวมถึง Shopee และ Lazada เอง ก็เริ่มมีบริการเช่นเดียวกัน ในขณะที่ในประเทศไทยก็มีผู้ให้บริการชื่อ pundai.com ที่เป็น Affiliate Marketing ของไทยเอง

 

เทรนด์ที่ 9 “MarErce” เมื่อ มาร์เทค (MarTech) ผสานเข้ากับ อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)

มาร์เอิร์ซ (Mar-Erce) คือ รูปเเบบการทำธุรกิจดิจิทัลที่อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ผสานเข้ากับมาร์เทค (MarTech) เราจะเรียกว่า “มาร์เอิร์ซ” จากเมื่อก่อนคนทำการตลาด (Marketing) จะเน้นเรื่องการตลาด และ คนค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) ก็เน้นเรื่องการขาย

แต่ทุกวันนี้จะไม่ใช่วิธีการเเบบเดิมอีกต่อไป เพราะ Marketing กับ e-Commerce ถูกผสานรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้ตอนนี้ผู้ให้บริการด้านมาร์เทค (MarTech) เริ่มมีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การทำการตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้เกิดออเดอร์ เกิดการซื้อขาย เเละเมื่อเกิดการขายแล้ว ทางฝั่งมาร์เทค (MarTech) จะเริ่มนำเทคโนโลยีย้อนกลับไปทำ CRM หรือ Retention เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำต่อไปอีกที ดังนั้น “มาร์เอิร์ซ (MarErce)” จะเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจที่การตลาด (Marketing) กับ การค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) จะถูกผสานรวมเข้าด้วยกัน

เทรนด์ที่ 10 การแข่งขัน e-Commerce ในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่

แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จะเริ่มแข่งขัน e-Commerce อย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, TikTok ทุกคนเริ่มมีแพลตฟอร์มที่รองรับเเละส่งเสริม e-Commerce มากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ากระโดดข้ามไปใช้บริการของคู่แข่ง เช่น Facebook มี Facebook Shop, Facebook Live, Facebook Marketplace, Facebook Messenger, Line มี Line Chat, Line OA, Line Shop, Line Pay ฝั่ง TikTok มี TikTok Video, TikTok Ads, TikTok Shop ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้เกิด e-Commerce ในแพลตฟอร์มใหญ่เพิ่มมากขึ้น

เทรนด์ที่ 11 การขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย

กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อ 1 ก.ย. 64 เเละจากข้อมูลล่าสุด มีผู้ให้บริการต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนเเล้วจำนวน 127 ราย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (ต.ค.64 – มี.ค.65) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,200 กว่าล้านบาท โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเก็บได้ถึงเกือบหมื่นล้านเมื่อครบปี นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยอาจจะขึ้นไปสูงถึงเกือบ ๆ สองแสนล้านบาท ซึ่งสองแสนล้านบาทน่าจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการส่งออกข้าวในปี 2564 รวมถึงสูงกว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2564 เช่นกัน จึงถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรต้องเริ่มเข้ามาดูแลสอดส่องว่าประเทศไทยเรามีการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลอย่างไร และควรนำตัวเลขนี้ไปคำนวณ วิเคราะห์เรื่องของการขาดดุลของระบบประเทศไทยด้วยเช่นกัน

เทรนด์ที่ 12 D2C (Direct to Consumer) จะฆ่าตัวกลางทางการค้า

ย้ำอีกครั้งว่าในช่วงปีที่แล้วและปีนี้ Direct to Customer หรือการขายตรงไปยังผู้บริโภค การตัดตัวกลางออกไปจากห่วงโซ่ เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับโรงงานผู้ผลิตต่าง ๆ หลายปีที่ผ่านมา โรงงานเริ่มขายของออนไลน์มากขึ้น ขายตรงไปยังผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นเริ่มถดถอย เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มซื้อสินค้าจากร้านในท้องถิ่นน้อยลงและหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ในแง่ของธุรกิจท้องถิ่นจะมีผู้ที่เป็นตัวกลาง หมดโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเพราะพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

 

ที่มา: 

ไอทีจีเนียส เอ็นจิเนียริ่ง (IT Genius Engineering) ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทั้งงานด้านการอบรม (Training) สัมมนา รับงานเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น งานออกแบบกราฟิก และงานด้าน E-Marketing ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้ง SEO , PPC , และ Social media marketting

ติดต่อเราเพื่อสอบถามผลิตภัณฑ์ ขอราคา หรือปรึกษาเรื่องไอที ได้เลยค่ะ

Line : @itgenius (มี @ ด้านหน้า) หรือ https://lin.ee/xoFlBFe
Facebook : https://www.facebook.com/itgeniusonline
Tel : 02-570-8449 มือถือ 088-807-9770 และ 092-841-7931
Email : contact@itgenius.co.th

แนะนำหลักสูตรอบรมที่น่าสนใจ

user
โดย Bella
เข้าชม 1,216 ครั้ง

คำค้นหา : tarad.come commerceป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุการค้าออนไลน์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวlazadashopeeemarketplaceสินค้าจีนdigital financial servicevideo commerce